เรื่องเล่าที่มีคำถาม จากใจสถาปนิกรุ่นเยาว์ ถึงวิถีชนเผ่าปกาเกอะญอ

วันนี้มีเรื่องเล่าเกี่ยวกับที่หมู่บ้านแห่งหนึ่ง ซึ่งเคยเป็นเหมือนหมู่บ้านของเทพารักษ์ที่อยู่กลางป่าและคอยดูแลป่าไปพร้อมกัน แต่เทพารักษ์เหล่านี้ไม่ได้มีอิทธิฤทธิ์อะไร เป็นเพียงมนุษย์ธรรมดาเหมือนๆกับพวกเรา แต่วิถีชีวิตของพวกเขาเหล่านั้นเหมือนดั่งเทพารักษ์ที่คอยพึ่งพิงและรักษาป่า

เพราะ “ป่า” พาเรียนรู้ ชีวิต

ชาวปกาเกอะญอ ที่อาศัยอยู่ที่หมู่บ้านแม่กองคาซึ่งตั้งอยู่ใกล้ป่าต้นน้ำ และวิถีชีวิตของเขาจะมีความเกี่ยวข้องกับป่านั้นเป็นอย่างมาก เช่น การใช้สมุนไพรในป่า การล่าสัตว์ป่า การสร้างบ้านจากต้นไม้ในป่า การใช้น้ำจากป่าต้นน้ำ และการถางป่าเพื่อทำไร่เป็นต้น จะเห็นได้ว่าป่าจำเป็นต่อการใช้ชีวิตของพวกเขามาก พวกเขาจึงต้องรักษาสมดุลของป่าให้มีป่าเอาไว้ให้พวกเขาไว้ได้พึ่งพิงต่อไป

ชาวปกาเกอะญอ แบ่งป่าเป็น 4 ประเภท คือ 
“ป่าต้นน้ำ” ที่เป็นป่าที่คอยดูดซับน้ำและคายน้ำออกมาจนเกิดเป็นลำธารขนาดเล็ก ไหลรวมกันจนเป็นแม่น้ำในที่สุด และเมื่อเป็นป่าที่มีแหล่งกำเนิดน้ำจึงมีความอุดมสมบูรณ์ทั้งในด้านพืชพรรณ และสัตว์ป่า 
“ป่าอนุรักษ์” ป่าที่มีพืชพรรณขนาดใหญ่หรือมีสัตว์ป่าหายาก ซึ่งป่าทั้งสองข้างต้นนี้ชาวปะกาเกอะญอจะให้ความสำคัญและอนุรักษ์เป็นอย่างมาก โดยจะมีการพึ่งพิงป่าทั้งสองนี้เมื่อยามจำเป็นเท่านั้นเช่น การหาสมุนไพรรักษาโรค การหาสีย้อมผ้า และการล่าสัตว์ขนาดเล็กเป็นต้น 
“ป่าใช้สอย” จะเป็นป่าที่ชาวปกาเกอะญอ เอาไม้ในป่ามาใช้งานเช่น ทำเครื่องจักสาน และสร้างบ้านเป็นต้น ซึ่งจะมีการใช้ทั้งไม้เกือบทุกประเภทในป่านี้ และจะมีการปลูกต้นไม้ทดแทนเพื่อคืนกลับให้ป่าอยู่เสมอ  
“ป่าทำกิน” เป็นป่าที่ชาวปะกาเกอะญอ เอาไว้ทำไร่ปลูกพืชเพื่อเอาไว้บริโภคและสร้างรายได้ ซึ่งไร่ที่พวกเขาทำจะเป็นระบบไร่หมุนเวียนที่มีการหมุนเวียนเปลี่ยนที่เพื่อพักฟื้นหน้าดินเพื่อให้ป่าได้ฟื้นฟูและเพิ่มแร่ธาตุของหน้าดินให้มากขึ้น โดยจะใช้พื้นที่ป่าส่วนหนึ่งเป็นเวลาหนึ่งปีและจะปล่อยให้พื้นที่นั้นฟื้นฟูอีกเจ็ดปีจึงจะกลับมาใช้ทำไร่ใหม่ ซึ่งเป็นระบบหมุนเวียนที่ทำให้เกิดการฟื้นฟูและการใช้งานสลับกันไป ทำให้ดินยังคงสภาพดีและสามารถปลูกพืชโดยไม่ต้องใช้ปุ๋ย ประกอบกับการปลูกพืชที่หลากหลายเช่น ข้าว พริก มะเขือ ฟักทอง และอื่นอีกมากมาย  อีกทั้งมีการปลูกพืชที่ใช้กันศัตรูพืชให้กระจายรวมอยู่ด้วย ทำให้เกิดข้อดีมากมายเช่น ไม่ต้องใช้สารเคมีทั้งในพืชและในดิน สามารถป้องกันการแพร่ระบาดของโรคของพืชได้เนื่องจากพืชชนิดเดียวกันไม่ได้อยู่ติดกันเหมือนพืชเชิงเดี่ยว และมีการร่วมมือกันของชุมชนในการเก็บเกี่ยวเนื่องจากแต่ละคนปลูกพืชไม่เหมือนกันจึงมีระยะเก็บเกี่ยวไม่เท่ากันจึงสามารถช่วยกันเก็บเกี่ยวได้ เป็นต้น

วิถี “ป่า” สร้าง วิถี “ปกาเกอะญอ”

ปศุสัตว์แบบบ้านชาวเขา  มีการเลี้ยงหมูและไก่ในทุกๆ ครอบครัวเพื่อเอาไว้ใช้บริโภคในเวลาสำคัญๆเท่านั้น เช่น งานแต่งงาน งานขึ้นปีใหม่ และงานขึ้นบ้านใหม่ เป็นต้น อีกทั้งยังมีการเลี้ยงวัวและควาย ในแบบการปล่อยให้หากินเองตามธรรมชาติ ทำให้พวกมันมีสุขภาพดีและแข็งแรงมาก

การจักสานและการทอ  จุดก่อเกิดของ ศิลปวัฒนธรรม  ชาวปะกาเกอะญอ จะเด่นในเรื่องเครื่องจักสานและการทอผ้า  หากเป็นเครื่องจักสาน จะเป็นผู้ชายคน เนื่องจากบ้างจุดต้องมีการใช้แรงของผู้ชาย  จะเห็นได้ว่า เครื่องใช้ในชีวิตประจำวันหลายๆอย่างมาจากการสานทั้งสิ้น เช่น  ดอแพะ ที่ให้เป็นตะกร้าใส่ของในพิธีต่างๆ กึ้  ที่ใช้ใส่ของและผลผลิตทางการเกษตร ฯลฯ  ชายชาวปกาเกอะญอมีความชำนาญทางด้านเครื่องจักรสานเป็นอย่างมาก

ส่วนการทอผ้า เป็นงานของ หญิงชาวปกาเกอะญอ เพราะเป็นงานที่ละเอียดอ่อนและซับซ้อนอย่างมากประกอบกับผู้หญิงอยู่บ้านเป็นเวลานานกว่าผู้ชาย จึงสามารถใช้เวลาทำงานละเอียดอ่อนนี้ได้  ซึ่งในการทอผ้าจะใช้  “ฝ้าย”  ที่ปลูกเองในไร่  นำมาปั่นเป็น เส้นด้าย จากนั้นจึงหา “สีจากธรรมชาติ” เช่น เปลือกไม้ ใบไม้ ผลไม้ และแหล่งน้ำที่มีการตกตะกอน มาย้อมสีผ้า

การทอเสื้อผ้าแบบปกาเกอะญอ

เป็นการทอเสื้อผ้ามีความละเอียดสูง ซึ่งต้องใช้เวลานานในการทอเสื้อผ้าหนึ่งชุด ใช้เวลาเป็นปี ชาวปกาเกอะญอ แต่ละคนจะมีชุดใหม่แค่ประมาณหนึ่งชุดต่อปี  เพราะผู้หญิงหนึ่งคนจะต้องทอเสื้อผ้าให้คนในครอบครัวทุกคน พวกเขาใช้เสื้อผ้าอย่างเห็นคุณค่า เพราะมีจำนวนน้อยและทอมาจากความรักที่มีให้กับคนในครอบครัว

งานสถาปัตยกรรม แบบปกาเกอะญอ

บ้านแบบดั่งเดิมจะใช้ไม้ไผ่ซางเป็นวัสดุก่อสร้างเกือบทุกส่วนของบ้าน จึงทำให้เกิดช่องว่างเป็นช่องแสงมากมายเป็นประโยชน์ต่อชีวิตประจำวัน เพราะหมู่บ้านแห่งนี้ไฟฟ้ายังเข้าไม่ค่อยถึง อีกประการ ประโยชน์เพื่อการระบายควัน ที่เกิดจากการก่อไฟประกอบอาหาร

แสงแดด ที่ทอดผ่านช่องแสงฝาเรือน ลงมาสู่พื้นเรือนบ้านให้ได้รับบรรยากาศที่แสนสวยงามและอบอุ่น ในส่วนของหลังคา จะมีการใช้ใบไม้ เช่น ใบตองตึง มุงหลังคา  แต่ในปัจจุบันเริ่มมีการเปลี่ยนแปลง หันมาใช้ไม้เนื้อแข็งทำตัวบ้าน และใช้กระเบื้องมุงหลังคา เพื่อเพิ่มอายุการใช้งานของบ้านให้นานขึ้น ชาวบ้านให้เหตุผลว่า ปัจจุบันนี้เจ้าของบ้านส่วนใหญ่มักเป็นผู้สูงอายุ หรือ บางคนก็เริ่มมีอายุมากขึ้น บ้านไม้ไผ่ต้องมีการซ่อมบำรุงตลอดเวลา เพราะมีอายุการใช้งานที่สั้น

หญิง – ชาย ปะกาเกอะยอ บนความเชื่อของธรรมชาติ

ชาวปากาเกอะยอเชื่อถือกันว่าผู้หญิงเป็นเจ้าของบ้าน เนื่องจากผู้หญิงใช้เวลาส่วนให้อยู่ที่บ้านและเป็นคนคอยดูแลบ้าน ผู้หญิงจึงเป็นผู้ที่มีความสำคัญต่อครอบครัวและต่อบ้านมากๆ ถึงขนาดที่ว่า ถ้าคู่แต่งงานฝ่ายหญิงจากไปบ้านก็ต้องถูกรื้อไปพร้อมกับฝ่ายหญิงด้วย จึงทำให้ฝ่ายชายให้เกียรติผู้หญิงมาตั้งแต่อดีต

เมื่อความเจริญเข้ามาเยือน วิถีปกาเกอะญอ แห่งแม่กองคา เริ่มเปลี่ยนแปลง

ชุมชนแม่กองคาในปัจจุบันกำลังเปลี่ยนแปลงไปเนื่องจากการเข้ามาถึงของถนนลาดยาง ประกอบกับไฟฟ้าและสัญญาณโทรศัพท์ที่กำลังใกล้เข้ามา ซึ่งก็มีข้อดี เช่น การคมนาคมที่สะดวกขึ้น มีโรงเรียนรัฐที่สอนตามแบบวิถีพุทธเข้ามาสอนเด็กๆ ชาวปกาเกอะญอ การขนส่งค้าขายผลผลิตก็สะดวกขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม ข้อเสียก็พ่วงตามมาเช่นกัน เช่น ภาระหนี้สินที่มาพร้อมกับความสะดวกสบาย

สิ่งสำคัญที่กำลังเลือนหาย คือ การเรียนรู้วิถีชีวิตของบรรพบุรุษของ เด็กๆ ลดน้อยลง มีการเอารัดเอาเปรียบจากสังคมภายนอก มีความไม่เท่าเทียมทางสังคม ปัญหาเรื่องขยะ มีขยะที่ย่อยสลายยากเข้ามาในหมู่บ้านมากขึ้น สาเหตุต่าง ๆ ก็ทำให้คนในหมู่บ้านต้องออกไปหางานทำในเมืองเพื่อใช้จ่ายหนี้สิน

ทั้งนี้ยังมีปัจจัยต่างๆ อีกมากมายที่จะทำให้ชุมชนชาวปกาเกอะญอ แห่งแม่กองคานี้ พบกับความเปลี่ยนแปลงอย่างไม่ทันตั้งตัว จนอาจทำให้วิถีชีวิตที่เคยสร้างสมดุลให้ป่านี้หายไป จนต้องทำให้เราต้องกลับมาตั้งคำถามกับตัวเองว่า
เราจะสามารถช่วยอะไรได้บ้าง อย่างไร ? หากวิถีชีวิตธรรมชาติที่แท้หายไป

เราจะทัดทานสิ่งเบียดเบียนต่างๆ ที่จะเข้าทำแทนที่ป่า ได้อย่างไร?

ถ้าป่าต้นน้ำและแหล่งน้ำหายไปหมดจะเป็นอย่างไร?

ถ้าทรัพยากรหมดโลกแล้วโลกจะเป็นอย่างไร?

ถ้าโลกเหลือแต่ขยะจนไม่สามารถผลิตทรัพยากรให้มนุษย์ได้แล้วมนุษย์จะเป็นอย่างไร?

หรือ*พวกเรา ควรหยุดเมินเฉยและหยุดชินชา ต่อคำตอบของแต่ละคำถามแล้วรุกขึ้นมาให้ความสำคัญและสร้างสมดุลต่อธรรมชาติเหมือนอย่างวิถีชีวิตของเทพารักษ์แห่งป่า ต้นน้ำเหล่านั้น ตัวเราเองและสิ่งรอบข้างจะดีขึ้นหรือไม่ อย่างไร?  หรือจะต้องรอให้มันหายไป….

นักเขียน

อิสรา มานะคิด (นิว)

อิสรา มานะคิด (นิว)

นักศึกษาหลักสูตรสถาปัตยกรรมศาสตรบัณฑิต
ชั้นปีที่ 1 รุ่นที่ 4 สถาบันอาศรมศิลป์