เรียนรู้คุณค่าแห่งชีวิต
Life is Learning Learning is Life
เชื่อมโยงกับจักรวาล ด้วยงานอาสา
ดร.สรยุทธ รัตนพจนารถ
ผู้ร่วมก่อตั้ง ธนาคารจิตอาสา
ดร.สรยุทธ รัตนพจนารถ เป็นผู้ร่วมก่อตั้งธนาคารจิตอาสา แพลตฟอร์มที่มีแนวคิดเปิดให้ผู้สนใจเป็นอาสาสมัครมาฝากเวลาของตัวเองเอาไว้เพื่อได้เลือกสมัครเข้าร่วมทำงานอาสาตามความถนัดและรูปแบบที่ตนสนใจ ปัจจุบันแนวคิดการฝากเวลาของธนาคารจิตอาสาได้รับความนิยมอย่างมาก มีการฝากเวลาไว้ในระบบรวมหลายล้านชั่วโมง จากผู้ที่มาลงทะเบียนเป็นอาสาสมัครหลายหมื่นคน
แนวคิดการทำงานอาสาสมัครของ ดร.สรยุทธ ตอบโจทย์ทั้งด้านการใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ การทำเพื่อผู้อื่น รวมถึงการลงมือเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีขึ้นด้วยตัวของเราเอง และลึกลงไปกว่านั้น การทำงานอาสาสมัครยังเป็นโอกาสให้เราได้สำรวจตนเอง แก้ไขข้อบกพร่อง และพัฒนาศักยภาพด้วย
ยิ่งเราลงมือทำงานเพื่อผู้อื่นมากขึ้นเท่าไหร่ ผลลัพธ์จากงานเหล่านั้นจะสะท้อนถึงคุณค่าและความหมายในชีวิตของผู้ที่ลงมือทำงานอาสาแต่ละคนได้
หากพูดในแง่ที่ว่า ชีวิตคือการเรียนรู้คุณค่าและความหมายของการได้เกิดมา เป็นมนุษย์ผ่านกระบวนการต่างๆ ดังนั้น การทำงานจิตอาสาจึงน่าจะเป็นหนทางในการเรียนรู้คุณค่าของชีวิตของอาจารย์ที่สำคัญ เมื่อครั้งที่อาจารย์เริ่มต้นทำงานจิตอาสา อาจารย์เริ่มต้นคิดจะทำงานด้านนี้ตั้งแต่เมื่อไร ด้วยวัตถุประสงค์ใด และได้ตระหนักถึงเรื่องการทำงานจิตอาสาเพื่อเรียนรู้คุณค่าของชีวิตหรือไม่
ถ้าตอบง่ายๆ ก็คือ เริ่มต้นได้ยังไงก็ไม่รู้ครับ เป็นหนึ่งในคำตอบที่ง่ายที่สุด และจริงๆ แล้วก็เป็นอย่างนั้น เพราะยากที่จะชี้ชัดบอกเป็นจุดเริ่มต้นที่แน่นอนได้ ถามว่าตอนเรียนอยู่ในโรงเรียน การทำเวรตอนเย็นเป็นงานอาสาหรือเปล่า จะว่าใช่ก็ได้ จะว่าไม่ใช่ก็ได้ การถูกเลือกเป็นหัวหน้าห้องล่ะใช่มั้ย จะบอกว่าใช่ก็ได้ จะบอกไม่ใช่ก็ได้ เพราะฉะนั้นจึงยากที่จะตอบว่าเริ่มต้นเมื่อไหร่ แต่หากจะตอบอีกแบบหนึ่งก็คือ ผมเชื่อว่ามีอะไรบางอย่างข้างในที่มันเรียกเราให้ทำสิ่งเหล่านี้ เช่นเดียวกับที่คนเราทุกคนมีเวลา 24 ชั่วโมงในหนึ่งวัน ถามว่าทำไมเราเลือกทำอะไรบางอย่างไม่เหมือนกันในเวลาที่เรามีเท่ากัน เราสามารถเดินทางไปออฟฟิศได้หลายแบบ นั่งรถเมล์ นั่งรถไฟฟ้า หรือขับรถ ทำไมบางวันเราถึงเลือกนั่งรถไฟฟ้า ทำไมบางวันเราถึงขับรถ นี่เป็นตัวอย่างการเลือกเล็กๆ ในชีวิต แต่ว่าบางทีชีวิตก็มีการเลือกที่ใหญ่ขึ้น อย่างเช่น ผมเคยเป็นอาจารย์อยู่ที่คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งก็เป็นงานในความใฝ่ฝันของคนจำนวนมาก เป็นงานที่มีความมั่นคง ผมก็มีความสัมพันธ์ค่อนข้างดีกับผู้บริหารมหาวิทยาลัย กับอาจารย์กับนักศึกษา แต่แล้วผมก็ลาออกมาจากอาชีพที่มั่นคงมากๆ สิ่งนี้ก็อาจจะเป็นคำตอบของสิ่งที่ว่า มันมีอะไรบางอย่างข้างในเรียกให้เราออกไปทำอะไรบางอย่าง หรือถ้าจะพูดให้ฟังดูลึกลับเล็กน้อยก็คือมันเหมือนกับจักรวาลเรียกเราหรือว่าอะไรบางอย่างในตัวมันพาเราออกมา
แต่หากมองในเชิงกระบวนการเรียนรู้ ผมคิดว่าเราก็ได้เติบโตมาพอที่จะหาตำแหน่งแห่งที่ของเราบนโลกใบนี้ได้ ผมคิดว่ากระบวนการเรียนรู้ตลอดชีวิตของเราได้พาเราไปเจออะไรบางอย่าง อันหนึ่งก็คือน่าจะไปเจอว่าเราทำอะไรได้ดี ทำอะไรได้ดีก็คือ เกิดประสบผล มี effectiveness คือทั้งมีประสิทธิภาพ มีประสิทธิผล ทำแล้วเกิดผลได้ดี อีกสิ่งหนึ่งคือไปเจออะไรที่เราชอบ เพราะว่าบางอย่างเราทำได้ดี แต่ว่าเราไม่ค่อยชอบทำ กับสุดท้ายคือไปเจออะไรที่เมื่อทำแล้วเกิดประโยชน์กับโลก ถ้าการเดินทางในชีวิตของเราได้พาเราไปเจอจุดเหล่านี้ก็จะเป็นสิ่งที่ดีมาก
ในชีวิตของผมช่วงหลัง ไม่เคยมีเลยที่ตื่นขึ้นมาแล้วต้องมีเสียงบ่นว่า เบื่อจัง ไม่อยากทำสิ่งนั้นสิ่งนี้ หรือไม่อยากไปที่นั่นที่นี่ ทุกวันนี้ผมตื่นขึ้นมาด้วยความรู้สึกที่ดี ตื่นขึ้นมาพร้อมกับรู้สึกว่ามีความเป็นไปได้ใหม่ๆ รอเราอยู่อีกตลอดทั้งวัน นี่คือการพาตัวเองไปอยู่ในจุดที่เหมาะที่สุดกับตัวเราและโลก เมื่อเราเจอจุดที่ว่าแล้วก็เหมือนกับว่าเราแทบไม่ต้องทำอะไรเลย โลกจะจัดการและจัดสรรให้เราอย่างเบ็ดเสร็จ เราออกแรงเพียงนิดเดียวหรือแทบไม่ต้องออกแรงเลย มันก็จะมีการเคลื่อนไปของสิ่งต่างๆ รอบตัวเราเอง
ทั้งหมดนี้อาจจะฟังดูค่อนข้างเป็นนามธรรม แต่ผมคิดว่าโดยคอนเซปต์แล้วคือแบบนี้ ดังนั้น รูปธรรมก็คือว่าเราควรจะทำอะไรเพื่อตอบโจทย์นี้ ผมคิดว่าคำตอบหนึ่งก็คือการทำงานอาสา เมื่อมอง ย้อนกลับไป ผมรู้สึกว่างานอาสาทำให้ผมมาเจอจุดจุดนี้ มันคือจุดของเราที่รู้สึกว่าเมื่อทำสิ่งนี้แล้วมีแรงเสียดทานในชีวิตน้อย เหมือนกับความรู้สึกเมื่อต่อจิ๊กซอว์ได้อย่างพอดี เหมือนกับชีวิตที่เดินทางมาแล้วพบว่าสิ่งต่างๆ เริ่มลงร่องลงรอยเริ่มหาเจอว่าอยู่มาทำไม และกำลังจะไปไหน
แนวคิดเรื่องการทำทั้งสิ่งที่ทำได้ดี ทำสิ่งที่ชอบ และทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อโลก ไปพร้อมๆ กัน เป็นสิ่งที่คนทั่วไปสามารถทำได้ในชีวิตจริงหรือไม่
ผมเชื่อว่า ถึงแม้จะไม่ใช่ทุกคนที่ทำได้แต่คนส่วนใหญ่ก็คงมีความปรารถนาที่จะทำอย่างนั้น แน่นอนว่าเงื่อนไขของแต่ละคนอาจจะไม่ได้เอื้อให้เขาเลือกได้มากนัก ผมอาจจะเป็นคนหนึ่งที่เผอิญมีโอกาสดีในชีวิตหลายอย่าง เรียนค่อนข้างโอเค ได้ทุนจากรัฐบาลไทยส่งเสียให้เรียนฟรีตั้งแต่ ม.4 จนเรียนจบมัธยมปลาย จบปริญญาตรี แล้วก็ส่งต่อจนเรียนจบปริญญาเอก อาจจะพูดได้ว่ามีโอกาสในการเลือกกำหนดชีวิตตัวเองตั้งแต่เด็กๆ ด้านหนึ่งก็เหมือนถูกกำหนดกรอบเอาไว้ว่าต้องไปแบบนี้ แต่อีกด้านหนึ่งก็คือเราเลือก เมื่อเราได้ตัดสินใจเลือกแล้วเราเต็มที่กับสิ่งนั้น เรารู้สึกว่าชีวิตนี้มันเป็นของเราร้อยเปอร์เซ็นต์ ในแง่ที่ว่าเราเป็นผู้กำหนดสิ่งที่มันเกิดขึ้น แล้วเราก็มีความรับผิดชอบกับชีวิตนี้อย่างเต็มที่
ผมจึงรู้สึกว่า ชีวิตนี้มีความรุ่มรวย ภาษาอังกฤษเรียกว่า abundance คือ เต็มไปด้วยความรุ่มรวย อุดมสมบูรณ์ โอกาส จึงรู้สึกว่าเป็นความรับผิดชอบของเราที่จะต้องส่งคืนอะไรให้กับโลก เหมือนกับแนวคิดของฝรั่งเศสที่ว่า noblesse oblige ถ้ามองแบบโครงสร้างทางสังคม อาจจะบอกว่าต้องส่งคืนให้กับประเทศ ให้กับรัฐบาลที่ให้ทุนเรามา แต่ผมรู้สึกว่ามันยิ่งใหญ่ไปกว่าความเป็นรัฐชาติหรือความเป็นประเทศ ผมรู้สึกว่าต้องตอบแทน อะไรให้กับโลก ให้กับจักรวาล
ดังนั้น ตอนที่ผมทำวิทยานิพนธ์ปริญญาเอก ผมจึงคิดว่าด้วยโจทย์ที่มีอยู่เต็มจักรวาล เราควรจะเลือกทำโจทย์วิจัยอะไร เผอิญชีวิตผมได้มีโอกาสเจอครูบาอาจารย์ที่ดีๆ อย่าง อ.เสน่ห์ จามริก, อ.ประเวศ วะสี, อ.ระพี สาคริก, อ.วิสุทธิ์ ใบไม้ หรือแม้แต่ตอนไปเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยเยล สหรัฐอเมริกา ก็ได้ไปเจอนักคิดระดับโลกจำนวนมาก ทำให้เรารู้สึกว่า ถ้าเรามีโอกาสตั้งคำถามอะไรบางอย่าง ซึ่งมันเกิดประโยชน์กับตัวเองและเกิดประโยชน์กับโลกจริงๆ เราจะถามอะไร ซึ่งผมรู้สึกว่ามันมหัศจรรย์มาก เพราะคำถามในโลกนี้มีเท่ากับจำนวนอนันต์ เราถามได้ทุกเรื่อง ทั้งเรื่องอาหาร เรื่องหมาแมว ความเป็นอยู่ เรื่องทฤษฎี เรื่องสี ดนตรี อาชีพ เงิน เศรษฐกิจ ฯลฯ แต่ถ้าเราจะได้ถามคำถามเพื่อจะหาคำตอบของหนึ่งคำถามนั้น เราจะถามอะไร ผมจึงเลือกตั้งโจทย์วิทยานิพนธ์ว่า เราจะสร้างกระบวนการเรียนรู้ในคนได้อย่างไร ซึ่งโจทย์นี้ต้องกลับไปเริ่มต้นที่ครู ว่าครูจะเป็นผู้สร้างความรู้ได้อย่างไร เพราะเมื่อเราอยากให้นักเรียนสร้างความรู้ได้เอง ครูต้องสร้างความรู้ด้วยตนเองเป็นเสียก่อน จากโจทย์นี้ผมพบว่า กระบวนการที่คนเราจะสร้างความรู้นั้นน่าทึ่งมาก จาก how teachers learn ไปสู่ how children learn และ how people learn และจากโจทย์ที่ว่า มนุษย์เรียนรู้ได้อย่างไร เราไปเจออีกโจทย์หนึ่งว่า ถ้ามนุษย์จะเรียนรู้ มนุษย์ควรเรียนรู้อะไร ซึ่งเป็นคำถามที่ยิ่งใหญ่ยิ่งกว่า ไปจนถึงกระทั่งว่า แล้วความรู้ที่โลกต้องการคืออะไร ซึ่งยิ่งใหญ่และน่าทึ่งมาก
งานอาสาก็โผล่มาตามรายทางเหล่านี้ ผมเชื่อว่า งานอาสาเป็นโอกาสที่ทำให้คนได้ไปเจอว่าแล้วฉันควรจะรู้อะไร แล้วโลกควรจะรู้อะไร เพราะว่างานอาสาเป็นงานปลายเปิด ถ้าเราเรียนอยู่ในโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัย วิชาที่เราได้เรียนก็จะเป็นวิชาที่กึ่งๆ บังคับหรือเป็นวิชาที่เราได้เลือกบ้าง เช่น คณิตศาสตร์ สังคม ชีววิทยา ฯลฯ แต่งานอาสาเป็นงานที่เราต้องเลือกเอง เราจะเลือกทำอะไรก็ได้ ทำงานกับหมาแมว ทำงานอาสากับเด็ก สตรี เยาวชน ทำงานกับผู้สูงอายุ ความเท่าเทียมกัน ทำเรื่องกฎหมาย สิ่งแวดล้อม ร้อยแปดพันเก้า เราเลือกเองได้ มันคือการเรียนรู้ตลอดชีวิตของเราเอง
สาเหตุที่ระยะหลังผมมาทำงานส่งเสริมงานอาสาก็เพราะว่าเป็นช่องทางให้คนเกิดการเรียนรู้ตลอดชีวิต เพราะเมื่ออยู่ในมหาวิทยาลัยหรือในโรงเรียน ชีวิตของเราถูกแบ่งออกเป็นช่องๆ ช่องละ 50 นาที อีก 10 นาทีเอาไว้เดินเปลี่ยนชั้นเรียน แต่ว่าชีวิตจริงไม่ได้เป็นช่องๆ แบบนี้ หากชีวิตคือการเรียนรู้แบบองค์รวม แต่ละคนควรจะได้เลือกวิชาเรียนของตัวเอง ซึ่งในงานอาสา คนก็ได้เลือกวิชาเรียนของตัวเอง เช่น ฉันเลือกที่จะไปปลูกปะการัง หรือฉันจะไปล้างกรงเสือ ฉันจะไปเย็บถุงผ้าให้ผู้ป่วย ฉันจะไปนวดเด็ก ทั้งหมดมันคือวิชาที่เขาเลือก
..
งานอาสาให้โอกาสพาเราออกจากความคุ้นเคยเดิมๆ ถ้าเปรียบเทียบกับ ไข่ดาว ปกติแล้วเราก็ใช้ชีวิตอยู่ในไข่แดง อยู่ใน comfort zone, safe zone หรือในพื้นที่ปลอดภัยของเรา เราทำทุกสิ่งอย่างอัตโนมัติ ไม่ค่อย รู้เนื้อรู้ตัว ตื่นมาก็ล้างหน้า แปรงฟัน อาบน้ำ กินอาหาร เดินทางไปออฟฟิศ ทำงาน กลับบ้าน อยู่ในบริบทแบบเดิมโดยไม่ต้องคิดอะไรมาก แต่ในหลายๆ ครั้งงานอาสาจะพาเราออกจากไข่แดงไปสู่พื้นที่ไข่ขาว พื้นที่ท้าทาย พื้นที่ ที่เราไม่คุ้นชิน ทำให้ความตื่นตัวของเราเพิ่มขึ้น
..
สิ่งที่เราได้เรียนรู้ระหว่างการทำงานอาสาคืออะไร เราสามารถค้นพบจุดเล็กๆ ในใจเราที่เปลี่ยนตัวเราเอง หรือว่าเราสามารถเปลี่ยนโลกได้จากการทำงานอาสา อาจารย์ได้ค้นพบอะไรระหว่างการทำงานเหล่านี้บ้าง
คำตอบมีหลากหลาย จะบอกว่าค้นพบเรื่องเล็กมากๆ ก็ได้ เป็นเรื่องที่หากเราไม่สังเกตมันก็จะหลุดลอยไป เหมือนกับเวลาเราเดินไปแล้วมีอะไรอยู่ที่หางตาของเรา เราจะไม่ใส่ใจมันแล้วเราก็เดินเลยไปก็ได้ หรืออาจจะเป็นเรื่องเล็กๆ ที่เมื่อเราได้มองแล้วมันเปลี่ยนชีวิตเราไปเลย เปลี่ยนจากเราที่เป็นคนแบบหนึ่งกลายเป็นเราที่เป็นคนอีกแบบหนึ่งได้
งานอาสาให้โอกาสพาเราออกจากความคุ้นเคยเดิมๆ ถ้าเปรียบเทียบกับไข่ดาว ปกติแล้วเราก็ใช้ชีวิตอยู่ในไข่แดง อยู่ใน comfort zone, safe zone หรือในพื้นที่ปลอดภัยของเรา เราทำทุกสิ่งอย่างอัตโนมัติ ไม่ค่อยรู้เนื้อรู้ตัว ตื่นมาก็ล้างหน้าแปรงฟัน อาบน้ำ กินอาหาร เดินทางไปออฟฟิศ ทำงาน กลับบ้าน อยู่ในบริบทแบบเดิมโดยไม่ต้องคิดอะไรมาก แต่ในหลายๆ ครั้งงานอาสาจะพาเราออกจากไข่แดงไปสู่พื้นที่ไข่ขาว พื้นที่ท้าทาย พื้นที่ที่เราไม่คุ้นชิน ทำให้ความตื่นตัวของเราเพิ่มขึ้น มี alertness ทำให้เราต้องใส่ใจกับชีวิตมากขึ้น เหมือนเรามีถ่าน มีแบตเตอรี่ อยู่ในตัว มีซีพียูรันอยู่ โดยที่ปกติแล้วเราอาจจะไม่ค่อยได้รันเครื่องพวกนี้ แต่พอเราไปทำงานอาสา มันได้พาเราออกจากความคุ้นเคยเดิมๆ ได้เปิดศักยภาพ เปิดเครื่องให้เราสามารถเรียนรู้เรื่องใหม่ๆ ได้ และการที่เราเปิดเครื่องใหม่ เรียนรู้ในพื้นที่ใหม่ๆ ทำให้เราเห็นตัวเองมากขึ้น เข้าใจตัวเองมากขึ้น
หลายคนบอกว่าชีวิตคือการอยู่ที่ขอบ คนส่วนใหญ่มักคิดว่าเราอยู่ในค่า static หรือค่าที่คงที่อยู่ แต่จริงๆ แล้วชีวิตคือการออกจากค่าคงที่ต่างๆ เหล่านี้ อย่างอุณหภูมิร่างกาย คนมักจะคิดว่าร่างกายเรามีอุณหภูมิ 37 องศา แต่จริงๆ แล้วร่างกายของเราไม่ได้มีอุณหภูมิ 37 องศา เพราะที่มือเราก็อุณหภูมิหนึ่ง เจาะเข้าไปก็อีกอุณหภูมิหนึ่ง เข้าไปที่ท้องก็อีกอุณหภูมิหนึ่ง
ณ จุดหนึ่ง อุณหภูมิก็ไม่ได้ 37.000 แต่มันแกว่งขึ้นแกว่งลง การมีชีวิตคือการออกจากสมดุลแล้วก็กลับเข้ามาสู่สมดุล ภาษาอังกฤษเรียกว่า dynamic equilibrium หรือ สมดุลจลน์ คือเราออกจากสมดุลไป เราเรียนรู้ที่จะเอียงไปข้างหนึ่ง พอหลุดจากสมดุลแล้วก็เอียงกลับอีกข้างหนึ่ง เหมือนกับการเดินทางเพื่อหาสมดุลของชีวิต หากจะพูดด้วยภาษาสวยๆ อาจจะเรียกว่า การเดินทางสายกลาง เรียนรู้การทำอะไรที่ตึงเกิน หย่อนเกิน เพื่อหาสมดุลของเรา หาว่าศักยภาพของเราอยู่ตรงไหน และเมื่อเราค้นพบและอยู่ที่ขอบตรงนั้นนานพอ เมื่อเราเริ่มเติบโต ขอบของเราก็จะเคลื่อน เราก็จะมีศักยภาพมากขึ้น แล้วเราก็จะไปอยู่ที่ขอบถัดๆ ไป เราก็จะเข้าใจตัวเราเองมากขึ้นว่า ร่างกายที่มันกว้างศอก ยาววา หนาคืบนี้มันไม่ใช่แค่ก้อนนี้ แต่ว่ามันมีศักยภาพที่อยู่ข้างในอยู่อีกมาก งานอาสาพาเราไปเจอตรงนี้ พาเราไปรู้จักตัวเอง พาไปเห็นว่า ณ จุดหนึ่งๆ ขอบของเราอยู่ตรงไหนและเราจะขยายขอบเขตนี้ออกไป ทั้งในเชิงความสามารถแบบโลกๆ และในเชิงจิตวิญญาณได้อย่างไร
แท้จริงแล้วการทำงานจิตอาสาเป็นการทำงานเพื่อเรียนรู้ภายในของตนเอง หรือเรียนรู้เพื่อที่จะทำเพื่อผู้อื่น
กิจกรรมอื่นๆ หลายอย่างมีไว้สำหรับคน เฉพาะบางประเภทเท่านั้น เช่น คนที่เรียนวิศวะฯ ก็ต้องเก่งคณิตศาสตร์ เรียนอักษรฯ ก็ต้องเก่งภาษา เรียนศิลปะก็ต้องเก่งเรื่องงานฝีมือ แต่สำหรับงานอาสาแล้วทุกคนสามารถเป็นอาสาได้ เพราะว่าทุกคนมีเรื่องอะไรบางอย่างที่เขาให้ความสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นแม่บ้าน แม่ค้าที่ต้องตื่นตีสี่ไปซื้อของที่ตลาด คนป่วยที่นอนติดเตียง ทุกคนมีความสนใจเป็นของตัวเอง และทุกคนสามารถที่จะไปทำงานอาสาและเรียนรู้ด้วยตัวเองได้
งานอาสาเป็นงานที่มีความยืดหยุ่นสูงมาก เพราะฉะนั้นจึงยากที่จะแบ่งได้ว่าเรามาทำเพื่อตัวเองหรือเรามาทำเพื่อผู้อื่น เพราะทั้งหมดเป็นเรื่องของ holistic learning เป็นเรื่องขององค์รวมมากๆ เมื่อเราได้ไปทำงานอาสาแล้ว เราได้เรียนหลายๆ เรื่องในเวลาเดียวกัน เหมือนเราดูโทรทัศน์ เราก็ไม่ได้ดูแต่สี มันยังมีเสียงด้วย มีอารมณ์ เรื่องราว หลายชั้นหลายมิติ
การทำงานอาสา เราจึงเอาตัวเราทั้งตัวเข้าไป เราได้เรียนทั้งเนื้องาน เช่น ในการเย็บถุงผ้า เราก็ได้เรียนงานฝีมือ ได้เรียนรู้ว่าถุงผ้าไปเชื่อมโยงกับผู้ป่วยที่เขาจะเอาไปใช้อย่างไร ได้ความเชื่อมโยงกับโลกว่าทำไมถึงเกิดการป่วย แล้วก็โยงกลับมาว่ามีใครบ้างที่มาทำถุงผ้านี้ เขาคิดยังไงถึงทำถุงผ้านี้แล้วมันส่งผลกระทบถึงใครได้เรียนรู้เรื่องข้างนอก ได้เรียนรู้เรื่องตัวเอง ได้หวนกลับมามองตัวเองว่าฉันเป็นผู้ชาย แต่ว่าไม่เคยคิดเลยว่าจะเย็บผ้าได้ดีกับเขาเหมือนกัน เคยเรียนด้นถอยหลังตอน ม.1 แต่ลืมไปนานแล้ว แต่พอได้มาเย็บก็ยังพอใช้ได้อยู่ ได้เรียนรู้ว่าตอนเราทำมันหงุดหงิด โมโห หรือว่าเราไม่อยู่กับเนื้อกับตัว เย็บๆ ไปมัวแต่คิดเรื่องอื่นจนด้ายพันกันยุ่งเหยิง เราได้เรียนรู้หลายๆ เรื่องในเวลาเดียวกัน ขึ้นอยู่กับว่า ณ จุดนั้น ใจเรา อยู่ตรงไหน และเงื่อนไขรอบๆ จัดให้เราเรียนรู้เรื่องอะไร
ในโรงเรียนทางเลือกหรือโรงเรียนที่ค่อนข้างก้าวหน้า เขาก็ไม่ได้แบ่งเป็นวิชาๆ แต่เขาใช้วิธีให้ลงมือทำเลย บางโรงเรียนให้เด็กๆ ไปจ่ายตลาดมาทำอาหาร เขาก็ได้เรียนหลายๆ เรื่องพร้อมๆ กัน แต่ละคนก็ไม่จำเป็นต้องเรียนเรื่องเดียวกัน ณ เวลาเดียวกัน และไปในขั้นเดียวกัน โรงเรียนในระบบส่วนใหญ่เรียนเป็นปลากระป๋อง ไม่ว่าคุณจะเป็นปลาตัวเล็กหรือตัวใหญ่ คุณก็ต้องอยู่ในกระป๋องที่เท่ากัน นอนเอาหัวไปทางเดียวกัน แต่ว่าชีวิตจริงไม่ได้เป็นแบบนั้น งานอาสาจึงมีพลังเพราะมีความยืดหยุ่นตรงนี้มาก มันเอื้อให้คนทุกเพศ ทุกวัย คนแก่ คนป่วย คนสุขภาพดี มีแฟน ไม่มีแฟน อกหัก รักคุด ทุกคนสามารถทำงานอาสาได้ ทุกคนสามารถเรียนในจังหวะเวลาของเขาได้
ธนาคารจิตอาสาที่อาจารย์ทำอยู่นั้น สนองตอบแนวคิดนี้มาตั้งแต่แรกเลยใช่หรือไม่
ใช่ครับ ผมคิดว่าหัวใจคือ ชีวิตคือการเรียนรู้ ในด้านหนึ่งอาจจะบอกได้ว่าเราเกิดมาเพื่อเรียนรู้ แต่ละคนก็ได้เรียนรู้แต่ละเรื่องในจังหวะของเขา โจทย์ที่เรายังทำไม่ผ่านก็ต้องซ้ำชั้นอยู่ตรงนั้น ทำไปเรื่อยจนกระทั่งเราเรียนผ่าน แล้วไปทำโจทย์ที่มันลึกซึ้งซับซ้อนมากขึ้น งานอาสา เป็นเหมือนประตู เป็นช่องทางที่ทำให้คนเข้าถึงการเรียนรู้ที่เหมาะสมสำหรับเขา ผมชอบงานอาสาตรงที่เป็นประตู เราแต่ละคนสามารถมีประตูของตัวเอง แล้วก็เปิดไปเจอเรื่องที่ตัวเองอยากจะเข้าเรียนได้
หัวใจของธนาคารจิตอาสาก็คือการให้คนได้รู้จักและขัดเกลาตัวเอง และได้เห็นถึงความเชื่อมโยงของเขากับโลกและจักรวาล ถ้าสองส่วนนี้ไปด้วยกัน ผมเชื่อว่า เราจะเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์มากขึ้น โลกก็จะสงบสุข มีสันติภาพมากขึ้น
ถ้าคนทำงานอาสาได้ออกไปเรียนรู้ ทำความรู้จักตัวเองมากขึ้น ขัดเกลาตัวเองว่าทำยังไงอัตตาของเราจะเล็กลง ทำให้มีศักยภาพในการทำเพื่อผู้อื่นมากขึ้น ไม่ใช่ ไปแล้วก็ไปสั่งคนอื่น ไปแล้วหงุดหงิด ไปบ่น ไปว่าระบบ โทษสังคม แล้วก็ไม่เห็นคุณค่าของตัวเอง งานอาสาที่ดีควรเป็นงานที่ไปแล้วได้เห็นพลังของการได้ลงมือทำ เห็นพลังของการพาตัวเองไปถึงขอบและข้ามขอบเพื่อขยายศักยภาพของตัวเอง ฝึกฝนขัดเกลาตัวเอง ทำในสิ่งที่ตัวเองไม่เคยทำได้มาก่อน จนกระทั่งทำได้ ยกระดับตัวเอง ทั้งในระดับงานฝีมือ ระดับความคิดเห็น ความเชื่อมโยง เข้าใจโลก มีความคิดสร้างสรรค์ มีจิตใจที่เปิดกว้าง รักคนอื่นเป็น ให้อภัยคนอื่นเป็นมีความเชื่อมโยงทางความรู้สึกกับผู้อื่น จนกระทั่งไปถึงการเติบโตทางจิตวิญญาณ
เมื่อเห็นทั้งหมดนี้เขาก็จะเป็นคนที่เต็มมากขึ้น ไม่ได้ไปทำงานอาสาเพื่อจะหาอะไรมาเติม แต่ว่าไปทำงานอาสาเพื่อเป็นคนที่เต็ม พร้อมจะไปแบ่งคนอื่น ไม่ได้ทำไปเพื่อสนองความต้องการหรือทำตามอีโก้ของตัวเอง แต่ว่าทำไปเพราะเห็นว่าเป็นสิ่งที่ควรทำ เป็นการพาตัวเองไปอยู่ในตำแหน่งที่จักรวาลจัดไว้ให้เราแล้วว่าเราควรจะไปทำงานอย่างนี้
ด้านหนึ่งก็ไปเรียนรู้เพื่อจะรู้จักและขัดเกลาตัวเอง อีกด้านเป็นการเรียนรู้ให้เห็นความเชื่อมโยงของเรากับธรรมชาติ กับโลก กับจักรวาล เห็นความเชื่อมโยงของเรากับทุกคน ทุกอย่าง อากาศที่เราหายใจเข้าก็เป็นอากาศที่คนข้างๆ เขาเพิ่งจะหายใจออกมา แล้วเมื่อเราก็หายใจออก เขาก็หายใจเอาอากาศของเราเข้าไป ต้นไม้ข้างๆ ก็เอาอากาศของเราไป แล้วก็ออกมา เห็นว่าทุกชีวิตเชื่อมโยงกันเป็นหนึ่งเดียว สิ่งที่เราทำส่งผลกระทบถึงคนอื่น สิ่งที่คนอื่นทำส่งผลกระทบถึงเรา เห็นถึงการพ้นไปจากข้อจำกัดเดิมๆ ที่เคยคิดว่า ฉันต้องกระเสือกกระสนดิ้นรนเพื่อจะเอาตัวรอด เพื่อที่จะเอาชนะ เพื่อที่จะเก่ง ดี รวย และมีความสุขมากกว่าคนอื่น ก็จะเป็นคนที่เต็มพร้อมสมบูรณ์ด้วยตนเอง โดยรู้ว่าการเต็มพร้อมของตนเองยึดโยง เชื่อมโยง มี interconnectedness กับทุกๆ คน กับทุกๆ สรรพสิ่งบนโลก
..
หัวใจของธนาคารจิตอาสาก็คือการให้คนได้รู้จักและขัดเกลาตัวเอง และได้เห็นถึงความเชื่อมโยงของเขากับโลกและจักรวาล ถ้าสองส่วนนี้ ไปด้วยกัน ผมเชื่อว่า เราจะเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์มากขึ้น โลกก็จะสงบสุข มีสันติภาพมากขึ้น
..
อาจารย์มีคำแนะนำสำหรับผู้ที่สนใจเริ่มต้นในการทำงานจิตอาสาอย่างไร สิ่งที่เขาต้องเจอระหว่างกระบวนการเรียนรู้นี้มีอะไรบ้าง และเขาควรจะมีวิธี ผ่านสิ่งเหล่านั้นไปอย่างไร
งานอาสาคืองานที่ทำให้เราเปลี่ยนโลกทัศน์ของเราได้ เป็นงานที่ถ้าเราทำแล้วอยู่กับมันได้นานและมีคุณภาพเพียงพอจะทำให้เห็นความคิดของเรา งานอาสาก็เหมือนกับงานศิลปะ การเคลื่อนไหวร่างกายอย่าง ไทเก๊ก โยคะ ชี่กง กิจกรรมเหล่านี้ ถ้าเราทำไปดีๆ ลึกๆ ก็จะทำให้เราเห็นความคิด ทำให้เรารู้ว่าจริงๆ แล้วความทุกข์ของเราเกิดจากความคิด ความทุกข์ในโลกนั้นในความเข้าใจหนึ่งมันไม่มีอยู่จริง มันคือความคิดของเรา เพราะฉะนั้นคำแนะนำของผมคือคุณต้องทำเลย การเรียนรู้ไม่เกิดเวลาเราไม่ลงมือทำ มีคนน้อยมากๆ ที่เรียนรู้ผ่านการนั่งเฉยๆ โดยไม่ได้ทำอะไร ผมคิดว่าการเรียนรู้เกือบทั้งหมดในโลกเป็นการเรียนรู้ผ่านการลงมือทำ ขณะเดียวกันถ้าเราได้ติดตั้งเครื่องไม้เครื่องมือเสียหน่อย คือทักษะสองตัว ได้แก่ self-awareness การตระหนักรู้หรือการรู้จักตนเอง กับ self- reflection การสะท้อนตนเอง การถอดบทเรียน ถ้ามีทักษะสองอย่างนี้ก็จะยิ่งทำให้ดีขึ้น เราสามารถนำทักษะทั้งสองนี้ไปประยุกต์กับทุกช่องทางได้ ไม่ว่าจะเป็นงานภาวนา งานอาสา ศิลปะ เคลื่อนไหวร่างกาย ช่วยเหลือผู้อื่น ฯลฯ เพราะถ้าเราได้มี self-awareness รู้เนื้อรู้ตัว ได้มี self-reflection เกิดมีความสามารถในการสะท้อนตัวเอง ไม่ว่าทางไหนก็ไปถึงสิ่งเดียวกันก็คือการไปรู้จักตัวเอง เห็นความเชื่อมโยงเรากับโลกและจักรวาลได้เหมือนกัน
เส้นทางการเรียนรู้ครั้งใหม่ เพื่อทำความเข้าใจถึงวิธีการเรียนรู้จากภายใน ผ่านการพูดคุยกับผู้ทรงคุณวุฒิ 6 ท่าน ถึงแนวคิดการเรียนรู้ของชีวิตในมิติต่างๆ และประสบการณ์ตรงที่เปลี่ยนแปลงชีวิตของกัลยาณมิตร 9 ท่านที่กรุณาบอกเล่าแบ่งปันประสบการณ์การเรียนรู้ครั้งสำคัญของชีวิต ที่ทำให้แต่ละท่านได้เข้าถึงคุณค่าแห่งชีวิตของตนและใช้ชีวิตหลังจากนั้นอย่างมีความหมาย