เรียนรู้คุณค่าแห่งชีวิต | ‘คำตอบของชีวิตจากงานอาสา’ : สรวิศ ไพบูลย์รัตนากร (ยีราฟ)

เรียนรู้คุณค่าแห่งชีวิต

Life is Learning Learning is Life

คำตอบของชีวิตจากงานอาสา

สรวิศ ไพบูลย์รัตนากร

สรวิศ ไพบูลย์รัตนากร เป็นผู้ก่อตั้ง Saturday School หรือ โรงเรียนวันเสาร์ กลุ่มคนทำงานจิตอาสาที่เชื่อว่าพื้นที่ที่เอื้อต่อการเรียนรู้ต้องไม่อยู่แค่ในห้องสี่เหลี่ยม เชื่อว่าผู้ถ่ายทอดความรู้ไม่จำเป็นต้องมาจาก ‘ครู’ ในโรงเรียนเพียงอย่างเดียว และเชื่อว่าแรงบันดาลใจในการเรียนไม่ได้เกิดแค่กับผู้เรียน แต่เติมไฟฝันให้กับครูผู้สอนด้วย 

เพราะเชื่อเช่นนั้น ทำให้อดีตโปรแกรมเมอร์อย่างสรวิศ เลือกเปลี่ยนเส้นทางมาทำงานทางสังคม หลายปีผ่านไป เขาเรียนรู้ว่าบนเส้นทางที่ทำเพื่อคนอื่นนั้นก่อให้เกิดความสุข เป็นความสุขที่เติมเต็มบางสิ่งบางอย่างในใจได้อย่างสมบูรณ์แบบ

คำถามเปลี่ยนชีวิต

      คุณเคยสงสัยกับตัวเองไหมว่า กำลังทำอะไรอยู่ สิ่งที่ทำอยู่นั้นใช่สิ่งที่ชอบจริงหรือเปล่า และมันมีประโยชน์กับใครบ้างหรือไม่? คุณยีราฟ-สรวิศ ไพบูลย์รัตนากร เคยถามคำถามนี้กับตัวเขาเอง และมันได้เปลี่ยนเส้นทางเดินในชีวิตของเขาไปจากเดิมมากมาย

      คุณสรวิศเคยเป็นโปรแกรมเมอร์ สมัยเรียนเขาเป็นนักเรียนระดับหัวกะทิ จบการศึกษาชั้นมัธยมปลายที่โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ มาต่อที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และออกมาทำงานเป็นโปรแกรมเมอร์อยู่ระยะหนึ่ง อาชีพการงานมีแนวโน้มว่าจะไปได้ดี แต่แล้ววันหนึ่งคำถามดังกล่าวข้างต้นก็เกิดขึ้นมาในใจ  

      “มีหลายเหตุการณ์ในชีวิตที่ทำให้เราสนใจประเด็นสังคม แต่คิดว่ากรอบคิดหลักที่ฝังใจ คือตอนที่อยู่โรงเรียนโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ ผู้อำนวยการ ขณะนั้นคือ ดร.ธงชัย ชิวปรีชา จะย้ำนักเรียนเสมอว่าเงินที่เราใช้เรียนมาจากภาษีประชาชนประกอบกับช่วงเรียนมหาวิทยาลัยเราได้ทำกิจกรรมเยอะ มีเหตุการณ์หลายอย่างที่ทำให้เราตั้งคำถามว่าอยากเป็นผู้ใหญ่แบบไหนในสังคม อย่างตอนเหตุการณ์ชุมนุมปี 53 จำได้ว่าต้องย้ายเข้าไปอยู่หอใน ออกไปไหนไม่ได้ ยังจำกลิ่นไฟได้อยู่เลย แต่พอปี 54 เกิดเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ เหตุการณ์มันพลิกกลับมาเป็นอีกอย่าง ด้วยความที่เราเป็นหัวหน้านิสิตตอนนั้น รวบรวมอาสาสมัครไปทำงานในพื้นที่ประสบภัย เราได้เห็นพลังของคนที่มาช่วยเหลือกัน เป็นความรู้สึกที่เราทำแล้วมีความสุข มันเลยฝังใจเรามาตลอด”

      เมื่อเกิดคำถามเกี่ยวกับหน้าที่การงานของตัวเอง ในที่สุดสรวิศตัดสินใจลาออก เขาหันเหชีวิตไปทำงานด้านจิตอาสา เพื่อสานต่อ ‘ความคิด’ เรื่องการทำงานเพื่อผู้อื่นให้เกิดขึ้นจริงด้วย ‘การลงมือทำ’ ด้วยตัวเอง

..

มีเหตุการณ์หลายอย่างที่ทำให้เราตั้งคำถามว่าอยากเป็นผู้ใหญ่แบบไหนในสังคม อย่างตอนเหตุการณ์ชุมนุมปี 53 จำได้ว่าต้องย้ายเข้าไปอยู่หอใน ออกไปไหนไม่ได้ ยังจำกลิ่นไฟได้อยู่เลย แต่พอปี 54 เกิดเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ เหตุการณ์มันพลิกกลับมาเป็นอีกอย่าง ด้วยความที่เราเป็นหัวหน้านิสิตตอนนั้น รวบรวมอาสาสมัครไปทำงานในพื้นที่ประสบภัย เราได้เห็นพลังของคนที่มาช่วยเหลือกัน เป็นความรู้สึกที่เราทำแล้วมีความสุข มันเลยฝังใจเรามาตลอด

..

ริเริ่มและลงมือเปลี่ยนอนาคต

      เมื่อลาออกจากงานโปรแกรมเมอร์ สรวิศไปสมัครเป็นครูที่ Teach for Thailand องค์กรไม่แสวงผลกำไรที่ทำงานส่งเสริมให้เด็กไทยได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างเท่าเทียมกัน เขาผ่านการคัดเลือก และได้ไปทำงานสอนที่โรงเรียนแห่งหนึ่งย่านบางนาเป็นระยะเวลา 2 ปี

      “วิชาที่สอนคือคณิตศาสตร์ ก่อนจะเข้าไปสอน เราไม่ได้คาดหวังว่าเด็กจะต้องดีเลิศเลอ พอจะจินตนาการพื้นหลังครอบครัวของเด็กๆ ออก เข้าไปสอนจริง พ่อแม่ของเด็กๆ ส่วนมากทำอาชีพรับจ้าง ส่วนใหญ่ทำงานไม่เป็นเวลาและไม่ค่อยได้อยู่บ้านมากนัก บางทีเด็กๆ อยู่กับตายาย เวลาที่ลงไปเยี่ยมบ้านก็จะเห็นสภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้อให้เด็กๆ กลับมาแล้วทำการบ้านได้ มันก็ยากที่จะคาดหวังจะให้เขาพร้อมเต็มที่กับการเรียน

      “เทอมแรกของการสอน แค่เตรียมหลักสูตร ปรับตัว ดีลกับเด็ก ปรับความสัมพันธ์กับนักเรียนก็ใช้เวลามากพอควร พอเข้าเทอมสอง เราเริ่มคุ้นเคยกับนักเรียน แต่ก็ยังรู้สึกว่ามันยังไม่มีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมให้เด็กได้เติบโตเต็มที่ แค่เรียนในห้องมันไม่พอจะทำให้เขามีแรงบันดาลใจ ในการทำอะไรไปต่อในอนาคต” 

      เมื่อเริ่มปรับตัวได้ สรวิศจึงลงรายละเอียดในการทำงานของเขามากขึ้น เริ่มจากจัดฐานกิจกรรมในวันวิทยาศาสตร์ สรวิศใช้พื้นที่โซเชียลมีเดียส่วนตัวระดมทุน อุปกรณ์ และสรรพกำลังจากเพื่อน
เพื่อจัดฐานกิจกรรมนั้น เมื่อได้รับเสียงตอบรับจากเด็กๆ จากฐานกิจกรรมในวันวิทยาศาสตร์ กลายเป็นทัศนศึกษานอกสถานที่ เขาพานักเรียนไปเยี่ยมชมโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ ไปดูเครื่องบินที่สนามบิน ไปดูงานของโรงพยาบาลจุฬาฯ และอื่นๆ อีกมากมาย

      เมื่อเห็นว่าสิ่งที่ลงมือทำมาถูกทาง ได้รับความสนใจจากเด็ก และได้รับการสนับสนุนจากครูท่านอื่นๆ เขาจึงเริ่มโครงการโรงเรียนวันเสาร์ขึ้น 

      “ระหว่างที่พาเด็กๆ ในชั้นเรียนไปทัศนศึกษา เราก็ค่อยๆ เริ่ม Saturday School ไปด้วย เริ่มหาเพื่อนๆ ที่สนใจอยากสอนเด็กๆ วันเสาร์ ตอนแรกยังเป็นกิจกรรมที่อิสระมาก อาสาจะสอนอะไรก็แล้วแต่เขาเลย เด็กยังไม่รู้เลยว่าวันนี้จะได้เรียนอะไร ก็เป็นความสนุกสนานไปอีกแบบ 

      “แต่พอเริ่มเทอมที่ 3 หรือ season 2 ของโรงเรียนวันเสาร์ ห้องเรียนหนึ่งคือวิชาธุรกิจ เป็นห้องที่สอนวิชาเดิมตลอด เด็กในห้องก็มาอย่างต่อเนื่องมากกว่า ทำให้ช่วงหลังๆ เราเซตระบบให้เด็กๆ
เลือกก่อนเลยว่าอยากเรียนอะไรแล้วก็หาอาสาสมัครเข้ามาสอน และมี commitment หรือสัญญาใจในระยะยาวกับครูอาสาว่าจะต้องสอนต่อเนื่องสิบสัปดาห์เพื่อเด็กๆ จะได้เรียนอย่างต่อเนื่อง 

      “ก่อนหน้าที่จะมาเป็นครูในโครงการ เราตั้งใจอยากทำธุรกิจเพื่อสังคม (social enterprise) อยู่แล้วด้วย แต่พอมาเป็นครูจริงๆ และได้ลองทำ Saturday School เราเห็นศักยภาพของมันที่จะเติบโตได้จริงๆ ที่สำคัญคือ เรารู้สึกว่ามันยังมีเด็กและครูอาสาอีกจำนวนมาก ยังไม่ได้มาเจอกันเลย” 

      สรวิศบอกถึงสิ่งที่เขาได้จากการเรียนรู้ผ่านการลงมือคลุกวงในกับปัญหาการศึกษาด้วยตัวเองจริงๆ 

..

เราเองก็เคยท้อมาก การเป็นอาสาสมัครมันไม่แน่นอน การต้องทำอะไร เพื่อคนอื่นมากๆ แต่ตัวเราเองก็ไม่ได้มีความพร้อมขนาดนั้น บางทีมัน ก็หมดไฟ เวลาที่อยากเลิกทำมากๆ จะคิดถึงคนที่ยังเอาด้วยกับเรา คนที่ ให้กำลังใจ หรือคิดถึงภาพในวัน big day วันที่ให้นักเรียนมาแสดงความ สามารถ มันจะเป็นวันที่เด็กแฮปปี้มาก บางทีโชว์กันจนครูอาสาอึ้ง เวลาที่ เห็นเด็กพัฒนาตัวเอง เรียนรู้ มีแรงบันดาลใจ เขามองเห็นว่าตัวเองไปได้ ไกลมากกว่าที่เคยคิด เขามีความพยายาม ทั้งหมดนี้มันเป็นภาพที่ทำให้เรา ยังไปต่อ

..

สู้ต่อไปด้วยหัวใจ

      การที่สรวิศและเพื่อนครูอาสาสมัครริเริ่มลงมือทำโครงการโรงเรียนวันเสาร์ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงแก่บรรดานักเรียนของพวกเขาทีละเล็กทีละน้อย สิ่งเหล่านี้บ่งบอกว่า การเดินทางตามเสียงหัวใจของเขาในวันนั้นเป็นสิ่งที่ถูกต้อง เขาได้ทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อคนอื่นอย่างแท้จริง

      “เราเคยคิดว่าเด็กๆ จะมาเรียนวันเสาร์มั้ย เขาจะเหนื่อยเกินไปหรือเปล่า แต่ปรากฏว่าเด็กที่มาเรียน เขาเรียนวันธรรมดาได้ดีขึ้น ปกติเราจะให้เด็กๆ เขียนไดอารี่เพื่อทบทวน (reflect) ว่าเขาได้อะไรในวันนั้นบ้าง มีหลายครั้งที่เด็กๆ เขียนถึงครูอาสาของพวกเขา บางคนเขียนว่าไม่เคยรู้สึกอยากเรียนเลยจนกระทั่งมาเจอครูเหล่านี้ ที่มากกว่านั้น เราให้เด็กๆ เขียนเป้าหมายในชีวิต เด็กที่เรียนวันเสาร์เขียนได้สองถึงสามหน้าเป็นเรื่องปกติ สบายมาก แต่เด็กที่ไม่ได้เรียน แค่สองสามบรรทัดก็ยากแล้ว แค่นี้ก็พอแล้ว แค่ให้เขามีแรงบันดาลใจในอนาคตของตัวเอง” 

      ตลอดเส้นทางการทำงานที่สรวิศได้เริ่มก่อร่างขึ้นมา หลายครั้งที่ประสบปัญหา หลายครั้งที่ผู้ร่วมอุดมการณ์ตัดสินใจถอนตัวและเลิกราไปด้วยหลายเหตุผล แต่สรวิศก็ยังอยู่

      “ครูอาสาส่วนใหญ่ทำงานประจำจันทร์ถึงศุกร์ เขาเหนื่อยพออยู่แล้ว เงินก็ไม่ได้ แต่สิ่งที่หลายคนพูดคล้ายๆ กันคือ เขาได้ประสบการณ์ที่จะไม่ได้จากงานประจำ เขาเห็นความสามารถของตัวเองเห็นว่าเขา empower นักเรียนได้ หลายๆ คนตั้งใจเรียนมากขึ้นก็เพราะอาสาสมัคร มันคือการให้และอาสาสมัครก็ได้เติมเต็ม เด็กๆ มาเจอครูที่ไม่เหมือนครูในห้องเขาก็มีแรงบันดาลใจ มีเป้าหมาย ก็ทำให้ครูก็มีเป้าหมายไปด้วย

      “เราเองก็เคยท้อมาก การเป็นอาสาสมัคร มันไม่แน่นอน การต้องทำอะไรเพื่อคนอื่นมากๆ แต่ตัวเราเองก็ไม่ได้มีความพร้อมขนาดนั้น บางทีก็หมดไฟ เวลาที่อยากเลิกทำมากๆ จะคิดถึงคนที่ยังเอาด้วยกับเรา คนที่ให้กำลังใจ หรือคิดถึงภาพในวัน big day วันที่ให้นักเรียนมาแสดงความสามารถ มันจะเป็นวันที่เด็กแฮปปี้มาก บางทีโชว์กันจนครูอาสาอึ้ง เวลาที่เห็นเด็กพัฒนาตัวเอง เรียนรู้ มีแรงบันดาลใจ เขามองเห็นว่าตัวเองไปได้ไกลมากกว่าที่เคยคิด เขามีความพยายาม ทั้งหมดนี้มันเป็นภาพที่ทำให้เรายังไปต่อ” 

      ครูสรวิศพูดด้วยหัวใจอันเข้มแข็งบนเส้นทางแห่งการเป็นครูอาสาสมัครเพื่อเด็กนักเรียนที่ขาดแคลนโอกาส

เส้นทางการเรียนรู้ครั้งใหม่ เพื่อทำความเข้าใจถึงวิธีการเรียนรู้จากภายใน  ผ่านการพูดคุยกับผู้ทรงคุณวุฒิ 6 ท่าน  ถึงแนวคิดการเรียนรู้ของชีวิตในมิติต่างๆ  และประสบการณ์ตรงที่เปลี่ยนแปลงชีวิตของกัลยาณมิตร 9 ท่านที่กรุณาบอกเล่าแบ่งปันประสบการณ์การเรียนรู้ครั้งสำคัญของชีวิต ที่ทำให้แต่ละท่านได้เข้าถึงคุณค่าแห่งชีวิตของตนและใช้ชีวิตหลังจากนั้นอย่างมีความหมาย