เรียนรู้คุณค่าแห่งชีวิต | ชีวิตใหม่ที่เป็นสุขจาก‘มะเร็ง’ : พีรดา พีรศิลป์

เรียนรู้คุณค่าแห่งชีวิต

Life is Learning Learning is Life

ชีวิตใหม่ที่เป็นสุขจาก ‘มะเร็ง’

พีรดา พีรศิลป์

พีรดา พีรศิลป์

“เราอยากขอบคุณ มะเร็ง”

เมื่อได้อ่าน คุณคงสงสัย ใครกันจะอยากไปขอบคุณโรคร้ายที่พรากชีวิตคนทั่วโลกไปจำนวนมาก แต่สำหรับเจ้าของประโยคข้างต้น หลิง-พีรดา พีรศิลป์ บรรณาธิการอิสระ และหญิงผู้เป็นมะเร็งเต้านมถึง 2 ครั้ง เธอรู้สึกอย่างที่พูดจริงๆ แน่นอนว่าไม่มีใครยินดีเมื่อทราบว่าตนเองเป็น ‘มะเร็ง’ หลิงก็เป็นหนึ่งในคนที่ใจหาย และหายถึงสองครา แต่นั่นก็ทำให้เธอกลับไปค้นหาหัวใจของตัวเองที่แท้จริงจนเจอ

ในมุมมองของบรรณาธิการหญิง หลิงมองว่าเธอได้ชีวิตใหม่หลังจากที่เป็นมะเร็ง และนั่นทำให้เธอมองโลกใบเดิมเปลี่ยนไปตลอดกาล เมื่อนาฬิกาทรายแห่งชีวิตมาปรากฏให้เห็นชัดตรงหน้า ความหมายต่อชีวิตที่เธอเคยให้ค่าก็เปลี่ยนไป ความตายกลับไม่ใช่ประเด็นที่เธอกังวลเป็นที่หนึ่งอีกต่อไป เมื่อเทียบกับความกลัวที่จะไม่ได้ลงมือใช้ชีวิตให้คุ้มค่าเท่าที่เธอยังมีเวลาเหลืออยู่ ความเสียดายทำให้เธอรู้ตัวเองแน่ชัด ตัดสินใจรวบรวมกำลังใจให้เข้มแข็ง เผชิญหน้ากับโรคร้าย รับการรักษาจากแพทย์อย่างจริงจัง ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในอดีตที่ผิดเสียใหม่ …และเริ่มต้นค้นหา ‘ความสุขใจที่แท้จริง’ ให้กับชีวิต

จากผู้หญิงบ้างานที่ใช้เวลาเกือบทั้งวันหมดไปกับหน้าจอคอมพิวเตอร์ หลิงค้นพบความสุขของเธอจากการได้เดินทางท่องเที่ยวไปในสถานที่ต่างๆ ด้วยมอเตอร์ไซค์ ‘บิ๊กไบค์’ คู่ใจ บิดคันเร่ง ขี่มุ่งทะยานสู่เส้นทางความสุขตามที่ใจเธอต้องการ ที่แม้หลายคนจะมองและเตือนเธอว่าเป็นพาหนะที่เสี่ยงอันตราย แต่นั่นต่างอะไรจากโรคร้ายที่เธอเผชิญมา หากสิ่งที่สำคัญของสองอย่างนี้คือสิ่งเดียวกัน นั่นก็คือการประคองตัวเองให้ทรงตัวอยู่ได้ และมุ่งหน้าไปในหนทางสุขใจของชีวิตที่เธอเป็นผู้เลือกด้วยตัวเองอย่าปล่อยให้เธอแซงไปจนคลาดสายตา

ลองมาตามเธอไปในเส้นทางที่เธอเป็นผู้เลือกกันดูว่าทิวทัศน์นั้นจะงดงามเพียงใด ถึงเป็นสาเหตุให้เธอนึกอยากขอบคุณ ‘มะเร็ง’

ทางแยก

      หลิงเป็นมะเร็งเต้านม 2 รอบ ครั้งแรกเธอพบขณะอยู่ในช่วงวัย 30 และอีกครั้งเมื่อก้าวเข้าสู่ช่วงวัยนำหน้าด้วยเลข 4 ถ้าเปรียบชีวิตปกติของเธอเป็นทางตรง เหตุการณ์นี้ก็ทำให้เธอต้องเจอกับทางแยกในชีวิตถึง 2 ครั้ง ให้เธอต้องตัดสินใจเลือกเดิน สองทางชื่อสั้นๆ ระหว่างจะ ‘สู้’ หรือ ‘ยอม’

      ครั้งแรกที่เธอทราบว่าเป็นมะเร็ง ไม่ได้ต่างจากคนอื่นๆ เธอเองก็ช็อกและร้องไห้ฟูมฟายให้กับโชคชะตาที่ตัวเองต้องเจอ“พอนึกถึงตอนนั้น มันก็ยังสะเทือนใจนะ มันต้องเป็นเองถึงจะรู้ สมัยก่อนโรคมะเร็งไม่ได้ถูกโปรโมตว่า รักษาได้ เหมือนสมัยนี้ เราเลยกลัว กลัวที่จะตาย เราไม่รู้ว่ามะเร็งคืออะไร มะเร็งเต้านมเป็นยังไง ไม่มีความรู้เลย เราไปหาหนังสืออ่าน พออ่านปุ๊บ คนอื่นเขาเป็นเยอะกว่าเรา รู้สึกว่าอ่านแล้วเครียด แล้วเรายังไม่เป็นแบบนั้นเลย ตอนนี้เราก็ยังปกติดีอยู่ ก็แค่รักษาตามที่หมอบอก สุดท้ายก็เลิกอ่านแล้วพอเห็นคนรอบข้าง เห็นแม่ เห็นพี่น้องเขาเป็นทุกข์ เหมือนว่าเรากำลังจะตาย มันทำให้เราเห็นคุณค่าของครอบครัวมากขึ้นเลยนะ แต่ตอนนี้เรายังไม่ตาย เราไม่อยากให้คนรอบข้างต้องมาทุกข์ขนาดนี้ เราก็เลยหยุดเศร้า ทำเหมือนมันเป็นโรคปกติที่ต้องรักษา ก็รักษาไปดิ”

      เธอเลือกที่จะพาชีวิตตัวเองเลี้ยวไปในทาง ‘สู้’

      “ถ้าเราไม่สู้ มันแพ้เลย แต่ถ้าเราสู้ เราจะชนะมากหรือน้อย เราก็ได้สู้แล้ว อย่างน้อยเราได้บอกตัวเองว่า ครั้งหนึ่งเรา สู้ว่ะ เราไม่ต้องบอกว่ารู้งี้สู้ดีกว่า รู้งี้ทำดีกว่า สมมติว่าเหลืออีก 6 เดือน ก็ให้มันรู้ไปเลยว่าเราจะใช้ชีวิต 6 เดือนที่เหลือยังไง…”

      เธอลุกขึ้นยืนสู้เพื่อความสุขของตัวเธอเอง ซึ่งการจะมีความสุขได้นั้น สิ่งแรกที่ต้องทำก็คือ การมีสุขภาพที่ดีซะก่อน หลิงทบทวนสิ่งที่ตัวเองทำพลาดไป เข้ารับการรักษาจากหมออย่างต่อเนื่อง ดูแล
ตัวเองและปรับเปลี่ยนโภชนาการของตัวเองใหม่ และยังคอยให้รางวัลกับตัวเองด้วยการพักจากงานไปเที่ยวประเทศต่างๆ จนสามารถเอาชนะโรคร้ายได้

      …อย่างไรก็ตาม มันก็กลับมาหาเธออีกครั้ง

      “ตอนอายุ 40 เป็นช่วงที่เกิดจุดเปลี่ยนหลายอย่าง แต่ที่สำคัญสุดคือเป็นมะเร็งครั้งที่ 2 ครั้งแรกเราเป็นตอนอายุ 30 เป็นมะเร็งเต้านม รักษาหายไปแล้ว ไม่คิดว่ามันจะกลับมาอีก แถมเป็นข้างเดิมด้วย ซึ่งโอกาสที่จะกลับมาน้อยมาก แต่มันก็กลับมา ทำให้เรารู้ว่าชีวิตคนไม่มีอะไรแน่นอน”

      หลังจากต้องผ่าตัดใหญ่เพื่อรักษาอีกครั้ง เธอนอนทบทวนบนเตียงโรงพยาบาลอย่างจริงจังว่าตัวเองยังทำอะไรพลาดไปอีก ทำไม ‘มะเร็ง’ ถึงยังกลับมาได้ ทั้งที่ครั้งแรกเธอก็หันมาดูแลสุขภาพมากขึ้น เลือกกินอาหารที่มีประโยชน์ แต่ต้นเหตุที่แท้จริงนั้นก็ยังคงไม่พ้นจากตัวเธอเอง นั่นคือ พฤติกรรมการใช้ชีวิตของเธอ โดยเฉพาะการโหมงานหนัก ที่ทำให้ร่างกายของเธอขาดความสมดุล

      “เป็นเพราะความเครียดและการนอนไม่พอ แถมยังไม่ออกกำลังกายอีกต่างหาก ที่ผ่านมาเราคิดว่าไม่มีปัญหา เพราะแข็งแรงมาตลอด หวัดก็ไม่เคยเป็น เป็นลมก็ไม่เคย แต่อยู่ดีๆ เป็นมะเร็ง กระทั่งมารู้ตัวว่า ที่ผ่านมาเราไม่ได้ดูแลชีวิตจริงจังเลย ทำงานดึกดื่น อดหลับอดนอน ทำงานส่งลูกค้าหรือนายจ้างได้ แล้วทำไมไม่ทำอะไรให้ตัวเองบ้าง”

      เธอกลับมาอุดรอยรั่วจากความประมาท เริ่มต้นจัดสรรชีวิตตัวเองใหม่ แบ่งระยะเวลาทำงานให้พอดีกับเวลาพักผ่อน และเริ่มหันมาออกกำลังกาย ซึ่งเธอเลือกการออกกำลังกายแบบ T25

      “T25 ใช้เวลาไม่กี่นาที ถ้าไม่มีปัญญาทำก็อย่าไปทำอย่างอื่นเลย ทำงานดึกดื่น ยอมอดหลับอดนอนส่งงานลูกค้าได้ แล้วทำไมทำแค่นี้เพื่อตัวเองไม่ได้ เราก็ตั้งเป้าเลยอยากมีซิกซ์แพ็กใช่ไหม ก็ทำ
อย่างจริงจัง ตื่น 6 โมงเลย ออกกำลังกายเสร็จ อาบน้ำ กินข้าว นอนสัก 3-4 ทุ่ม ส่วนงานถ้าไม่ทัน พรุ่งนี้ก็มาทำใหม่

      “ตอนนี้รู้สึกว่าตัวเองแข็งแรงกว่าตอนอายุ 30 อีก” หลิงกล่าวพร้อมรอยยิ้ม

..

ถ้าเราไม่สู้ มันแพ้เลย แต่ถ้าเราสู้ เราจะชนะมากหรือน้อย เราก็ได้สู้แล้ว อย่างน้อยเราได้บอกตัวเองว่า ครั้งหนึ่งเราสู้ว่ะ เราไม่ต้องบอกว่า รู้งี้สู้ ดีกว่า รู้งี้ทำดีกว่า สมมติว่าเหลืออีก 6 เดือน ก็ให้มันรู้ไปเลย ว่าเราจะใช้ ชีวิต 6 เดือนที่เหลือยังไง...

..

ทางต่อไป

      เมื่อเปลี่ยนแปลงตัวเองอีกครั้งจนหายดี การเป็นมะเร็งถึง 2 ครั้ง ย่อมหมายถึงการได้เห็นความไม่แน่นอนของชีวิตอย่างใกล้ชิดผ่านตัวเอง เมื่ออนาคตเป็นสิ่งไม่แน่นอน ปัจจุบันจึงเป็นสิ่งที่เธอให้ค่ามากที่สุด

      “ครั้งนี้แหละที่ทำให้เรารู้สึกว่า เวลาเราทำอะไรผิด เราอยากจะขอโทษ เมื่อก่อนไม่สนหรอก ช่างแม่ง กูถูก ทั้งๆ ที่กูผิด แต่กูก็ไม่ขอโทษ จะเป็นแบบนั้น ไม่รู้จะยึดกับศักดิ์ศรี ทิฐิ หรือ อัตตา อะไรไปทำไม เดี๋ยวพรุ่งนี้ตายไปแล้วไม่ได้ขอโทษสิ ยิ่งเสียใจ ไปเป็นผีมานั่งคิด รู้งี้บอกดีกว่า ถ้าเรามีโอกาสปุ๊บจะรีบขอโทษหรือรีบเคลียร์เลย เราไม่ชอบให้อะไรค้างอยู่ในใจ จะรู้สึกไม่สบายใจ”

      “เราก็คือคนธรรมดาคนหนึ่ง ก็มีโกรธ เวลาใครทำให้โกรธ แต่พอเรารู้สึกตัวว่าเราโกรธแล้ว เฮ้ย หยุด หยุดเลย ช่างมันเถอะ เราหยุดก่อน ไปทำอย่างอื่น มองไปที่อื่น ให้มันเบาลง ให้มันหายไปเร็วที่สุด อย่าเสียเวลากับความทุกข์ เพราะมันทำให้ความสุขเราน้อยลง พอเราคิดได้แบบนี้ เราก็ปล่อยง่าย มันมีสติ”

      “เราต้องทำต้นทุนสุขภาพให้ดี เพื่อให้ง่ายต่อการรับมือโรคต่างๆ อย่างตอนนี้เราไม่ได้แข็งแรงแค่ข้างนอกเท่านั้น ข้างในเราก็แข็งแรงด้วย ถ้าเกิดเป็นขึ้นมาจริงๆ ก็แค่รักษาไป เพราะเราไม่สามารถบอกมันได้ว่า ไม่ต้องกลับมา เราถือว่ามะเร็งเป็นเพื่อน อยู่ด้วยกันมาตลอดก็เลยรู้ว่าต้องรับมืออย่างไร และก็สู้จนถึงที่สุดนั่นแหละ

      นอกจากไม่เสียเวลากับความทุกข์ หลิงยังไม่เสียเวลากับความสุขของเธอเช่นกัน

      “ตอนไปเที่ยวต่างประเทศ เห็นคนขี่มอเตอร์ไซค์เที่ยวเป็นกลุ่มบ้าง คนเดียวบ้าง เรารู้สึกว่าชีวิตเขาเป็นอิสระมากเลย เลยคิดว่าถ้ามีโอกาสก็อยากลองดูบ้าง จนวันหนึ่งได้ดูวิดีโอผู้หญิงฝรั่ง 6-7 คนกำลังขี่มอเตอร์ไซค์ ถ่ายออกมาสวยมากเราก็ยิ่งรู้สึกต้องทำให้ได้สักวัน ระหว่างนั้น ก็เลยถามตัวเองว่าสักวันคือเมื่อไหร่ ก็เลยตัดสินใจทำเลย หาข้อมูล ซื้อเลย

      “ตอนนั้นซื้อเงินสดเลย เพราะคิดว่าพรุ่งนี้จะตายหรือเปล่ายังไม่รู้ แล้วสุดท้ายเงิน 400,000 บาท จะได้ใช้หรือเปล่า ถ้าให้เก็บเพื่อจะมารักษาตัว ไม่เอาหรอก ไม่มีทางเลย และถ้ามัวแต่ฝัน อ้างโน่น อ้างนี่ก็คงไม่มีทางได้ทำ”

      เธอตัดสินใจซื้อรถทั้งที่ตอนนั้นยังขับมอเตอร์ไซค์แบบมีคลัตช์ไม่เป็นด้วยซ้ำ ระหว่างที่รอรถมาส่ง หลิงจะหาเวลาไปเรียนฝึกขับที่ศูนย์ฝึก จนรถมาถึงและเริ่มขับจนชำนาญ เธอจึงได้เริ่มไปออกทริปดังที่ใฝ่ฝันไว้

      “ตอนนั้นไปกับกลุ่มพี่ๆ มอเตอร์ไซค์อีก 5 คน ไม่รู้จักใครเลย แต่อยากไป ขี่ไปลาว ต้องมีทักษะระดับหนึ่งเพราะถนนลำบาก แต่เราเชื่อว่าไปได้ ซึ่งก็ต้องขอบคุณพวกพี่เขามากที่ให้เราไปด้วย จำได้ว่าเส้นทางจากเวียงจันทน์ไปวังเวียงนั้น ต้องใช้คำว่าโคตรสวยเลย ฟินมาก สวยมาก ถนนตัดผ่านไปตามภูเขา เราขอบคุณตัวเองในหมวกกันน็อกเลย ที่เลือกขี่มอเตอร์ไซค์ ขอบคุณตัวเองที่มาอยู่ตรงนี้ น้ำตามันซึมออกมาเลย เรารู้สึกว่าเป็นช่วงชีวิตที่โคตรดี”

..

ครั้งนี้แหละที่ทำให้เรารู้สึกว่า เวลาเราทำอะไรผิด เราอยากจะขอโทษ เมื่อก่อนไม่สนหรอก ช่างแม่ง กูถูก ทั้งๆ ที่กูผิด แต่กูก็ไม่ขอโทษ จะเป็นแบบนั้น ไม่รู้จะยึดกับศักดิ์ศรี ทิฐิ หรือ อัตตา อะไรไปทำไม เดี๋ยวพรุ่งนี้ตายไปแล้วไม่ได้ขอโทษสิ ยิ่งเสียใจ ไปเป็นผีมานั่งคิด รู้งี้บอกดีกว่า ถ้าเรามีโอกาสปุ๊บ จะรีบขอโทษหรือรีบเคลียร์เลย เราไม่ชอบให้อะไรค้าง อยู่ในใจ จะรู้สึกไม่สบายใจ

..

ทางที่เลือกเอง

      “หากวันหนึ่งเกิดต้องตายด้วยมอเตอร์ไซค์ เราบอกที่บ้านเลยว่า ขอให้รู้ว่าเรามีความสุขในสิ่งที่ทำแล้ว ที่เหลือคุณก็จัดการศพอย่างที่เราเคยบอก เพราะความตายสำหรับเราตอนนี้เป็นเรื่องปกติ ไม่ได้น่ากลัวเลย สิ่งที่น่ากลัวกว่าคือการปล่อยให้ความฝันตายไปจากใจเรา”ใครที่ขี่มอเตอร์ไซค์ย่อมทราบดี มอเตอร์ไซค์นั้นไม่มีเกียร์ถอยหลัง มันไม่ได้ถูกออกแบบมาให้ถอย มีแต่ไปข้างหน้า ชีวิตของหลิงก็ไม่ต่างกัน“เราไม่สนใจอดีตเลย เพราะการกลับมาคิดเรื่องอดีต มันไม่ช่วยให้อะไรดีขึ้น แล้วก็แก้ไขอะไรไม่ได้ มันผ่านไปแล้ว เพราะฉะนั้นปัจจุบันสำคัญที่สุด ถ้าปัจจุบันดี เราเชื่อว่าอนาคตจะดี “หลายคนชอบถามว่าถ้าย้อนกลับไปแก้อะไรได้ จะแก้อะไรหรือไม่ บอกเลยว่าไม่แก้ ทุกอย่างที่ผ่านมาทำให้เราเป็นเราในวันนี้ บางครั้งเราโคตรเสียใจเลย มันเลวร้ายมากเลย แต่ผ่านมาแล้วก็ทำให้เราเป็นเราในวันนี้ “เราถึงอยากขอบคุณมะเร็ง ถ้าไม่เป็นมะเร็ง เราคงไม่ได้ขี่มอเตอร์ไซค์ แล้วคงยังคิดไม่ได้ว่า ชีวิตต้องการอะไรกันแน่” เธอยิ้มสุขใจ

พีรดา พีรสิลป์ ผู้หญิงขี่มอไซค์

เส้นทางการเรียนรู้ครั้งใหม่ เพื่อทำความเข้าใจถึงวิธีการเรียนรู้จากภายใน  ผ่านการพูดคุยกับผู้ทรงคุณวุฒิ 6 ท่าน  ถึงแนวคิดการเรียนรู้ของชีวิตในมิติต่างๆ  และประสบการณ์ตรงที่เปลี่ยนแปลงชีวิตของกัลยาณมิตร 9 ท่านที่กรุณาบอกเล่าแบ่งปันประสบการณ์การเรียนรู้ครั้งสำคัญของชีวิต ที่ทำให้แต่ละท่านได้เข้าถึงคุณค่าแห่งชีวิตของตนและใช้ชีวิตหลังจากนั้นอย่างมีความหมาย