เรียนรู้คุณค่าแห่งชีวิต | ‘อยู่ที่เรียนรู้ อยู่ที่ยอมรับ’ : ภาริอร วัชรศิริ

เรียนรู้คุณค่าแห่งชีวิต

Life is Learning Learning is Life

อยู่ที่เรียนรู้ อยู่ที่ยอมรับ

ภาริอร วัชรศิริ

ว่ากันว่าการเรียนรู้ที่สำคัญที่สุดในชีวิตมนุษย์นั้นมาจากการเรียนรู้ผ่านความทุกข์ ดังนั้น ในความหมายนี้ก็ย่อมหมายความว่า พาย-ภาริอร วัชรศิริ เป็นผู้ที่ผ่านการเรียนรู้บทสำคัญในชีวิตอย่างเต็มเปี่ยม เพราะความทุกข์ที่ผ่านมาในชีวิตของเธอนั้นปรากฏชัดขึ้น ด้วยเหตุการณ์ที่ทำให้จู่ๆ แม่ ซึ่งเป็นบุคคลที่สำคัญที่สุดในชีวิตของเธอต้องล้มป่วยด้วยอาการเส้นเลือดในสมองแตกอย่างกะทันหันจากคนที่มีแม่เป็นที่พึ่งทุกอย่าง เธอกลับต้องสลับหน้าที่มาเป็นที่พึ่งของคนป่วยที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้แทนไม่ใช่เรื่องง่ายเลยสำหรับเด็กผู้หญิงมัธยมปลายคนหนึ่งที่ต้องแบกรับภาระก้อนใหญ่นี้ไว้เพียงสองมือแต่กว่า 10 ปีที่ผ่านมา สิ่งที่เกิดขึ้นนี้ก็ทำให้เธอได้เรียนรู้ อย่างน้อยที่สุด คือการได้เรียนรู้ว่าคนคนหนึ่งจะสามารถยอมรับความทุกข์ที่ผ่านเข้ามาในชีวิตอย่างไร

เมื่อโลกไม่เหมือนวันวานอีกต่อไป

      ย้อนกลับไปวันหนึ่งเมื่อหลายปีก่อน ตอนที่ พาย-ภาริอร วัชรศิริ กำลังเรียนอยู่ชั้น ม.5 ขณะที่โลกของเธอกำลังสดใส เป็นโลกอันแสนคุ้นเคยของเด็กผู้หญิงคนหนึ่งที่มีแม่เป็นทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิต แม่ผู้ที่ทุ่มเททุกอย่างเพื่อคอยดูแลเธอ สรรหาแต่สิ่งที่ดีที่สุดมาให้ ทำทุกอย่างเพื่อให้ลูกสาวคนเดียวคนนี้มีความสุขที่สุด

      แต่แล้วเพียงพริบตาเดียว โลกใบนั้นก็ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

      “แม่ทำงานอยู่ดีๆ ก็ล้มจากเก้าอี้ แล้วขยับไม่ได้ไปครึ่งซีก” พายเล่าถึงเหตุการณ์ที่สำคัญที่สุดในชีวิต เธอเล่าต่อว่า หลังจากเหตุการณ์นั้นความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในชีวิตของเธออย่างมหาศาล เมื่อคุณแม่ต้องเข้ารับการผ่าตัดเพื่อเอาเลือดที่คั่งอยู่ในสมองออก เชื่อมเส้นเลือดที่แตก และฟื้นฟูตัวเองอยู่ในโรงพยาบาลอีกพักใหญ่ และหลังจากนั้น จากผู้ที่คอยดูแลเธอ คุณแม่ของเธอต้องกลายเป็นผู้ป่วยอัมพฤกษ์ที่ไม่สามารถดูแลแม้แต่ตัวเองได้อีกต่อไป

     ขณะนั้น พาย ภาริอร เป็นสาวน้อยอายุเพียง 16 ปี จากเด็กที่ไม่เคยทำอะไรเลย เธอเริ่มเรียนรู้หลายอย่าง เรียนรู้ที่จะช่วยเหลือตัวเอง ตั้งแต่เตรียมเสื้อผ้า เดินทางไปกลับโรงเรียน พร้อมกับจัดการธุระต่างๆ ภายในบ้าน ทั้งจ่ายค่าน้ำ ค่าไฟ แต่ที่หนักหน่วงที่สุดคือ การทำหน้าที่ดูแลแม่ ป้อนข้าว อาบน้ำ ล้างตัว เปลี่ยนผ้าอ้อม สวมเสื้อผ้าให้ ฯลฯ

     “มันเป็นความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในชีวิต เราต้องดูแม่ให้ได้ด้วยตัวคนเดียว พายดูแม่ตั้งแต่อยู่ ม.5 ซึ่งทุกอย่างไม่ใช่เรื่องง่ายๆ สำหรับเด็กวัยนั้น มี 2 ทางเลือก คือยอมแพ้ไปเลย หรือผ่านไปให้ได้พร้อมๆ กับแม่” เธอบอกความรู้สึกที่เกิดขึ้น

      พายเล่าว่า ในช่วงแรกๆ เธอยังคงมีความหวัง เธอภาวนาให้แม่หายป่วยกลับมาใช้ชีวิตได้เหมือนเดิม เพื่อที่เธอจะได้กลับไปสู่ชีวิตที่คุ้นเคย แต่ยิ่งนานวัน ความหวังเริ่มลดน้อยลง กลับกลายเป็นความเครียดและความกังวลที่มีมากขึ้นเรื่อยๆ ไม่เพียงแต่เธอคนเดียว คุณแม่เองก็เช่นกัน จากผู้หญิงทำงานคนหนึ่งต้องกลายเป็นผู้ป่วยติดเตียงที่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้เลย ก่อให้เกิดความเครียด จมดิ่งไปกับความทุกข์หนักในใจ ความคาดหวังที่จะหายจากอาการป่วย ความสงสารที่มีต่อลูกสาวคนเดียว ทั้งหมดนี้ไม่มีผลดีต่อใครเลย แม่ลูกจมอยู่กับความทุกข์หนักไปพร้อมกัน

      “ครั้งหนึ่งเคยทะเลาะกับแม่ที่ไม่ยอมลุกขึ้นเดินว่า แม่จะมีชีวิตอยู่ไปทำไมเมื่อทำอะไรไม่ได้แล้ว แม่ตอบว่าก็อยู่เพื่อแกไง คำว่าอยู่เพื่อแกอาจไม่ใช่การลุกขึ้นมารับไปส่ง แต่เป็นการอยู่เพื่อเห็นว่าพายยังมีชีวิตอยู่ วันนี้ทำงานเสร็จ เครียดไหม ร้องไห้เป็นบ้าหรือเปล่า เขาอยากอยู่แค่เห็นว่าวันนี้เรารับมือสิ่งต่างๆ ไหวหรือไม่ ถ้าไม่ไหวก็แค่เข้ามากอด หอมแก้มกันหน่อย แค่นี้ก็ดีขึ้นแล้ว หมุดหมายของเขาคือแค่นั้นเอง”

      วันนั้นเอง พายจึงเข้าใจความหมายใหม่ของชีวิต เมื่อเป้าหมายไม่ได้อยู่ที่การนั่งรอว่า แม่จะหายป่วยกลับมาเป็นเหมือนเดิมอีกหรือไม่ แต่เป็นการเรียนรู้สิ่งที่เกิดขึ้น ยอมรับความจริงที่อยู่ตรงหน้า และเลือกมองความสุขจากความเป็นจริงที่เกิดขึ้นแล้ว เธอหันมามีความสุขกับเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ตรงหน้า เช่น แม่ติดกระดุมเสื้อสำเร็จ หรือแม้แต่กินอาหารหมดจาน สิ่งนี้ทำให้ชีวิตของพายเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง

..

พายรู้สึกตัวเองมีชีวิตอยู่เพื่อหลายๆ บทบาท บทบาทแรกอาจเป็นผู้หญิง อายุ 27 ปี ที่ทำงานแบบนี้ ไลฟ์สไตล์เป็นแบบนี้ บทบาทที่ 2 คือการดูแล แม่ ในสภาวการณ์ที่เขาช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ บทบาทที่ 3 อาจเป็นแฟน ของผู้ชายคนหนึ่ง บทบาทที่ 4 อาจเป็นเพื่อนของใครอีกมากมาย ซึ่งพอ เรามีหลายบทบาท มีหลายเหตุผลที่เรามีชีวิตอยู่ เมื่อต้องสูญเสียสิ่งใด สิ่งหนึ่งไป เราก็ยังอยู่ได้ เพราะมีหลายเหตุผลที่ต้องอยู่ต่อไป มันเหมือน ยึดเหนี่ยวเราไว้

..

ดูแลกันและกัน สร้างคุณค่าให้กับวันที่ยังเหลืออยู่

      กว่าสิบปีที่ผ่านมา ภารกิจหลักของพายคือการดูแลแม่ เธอเปลี่ยนจากสาวน้อยเป็นผู้ใหญ่เต็มตัว แม้หน้าที่และความรับผิดชอบในบทบาทอื่นจะเพิ่มขึ้นตามกาลเวลา แต่หน้าที่ความรับผิดชอบของความเป็นลูกที่ต้องดูแลแม่ที่มีอาการป่วยของเธอไม่เคยลดลงเลย

      “พายรู้สึกตัวเองมีชีวิตอยู่เพื่อหลายๆ บทบาท บทบาทแรกอาจเป็นผู้หญิงอายุ 27 ปี ที่ทำงานแบบนี้ ไลฟ์สไตล์เป็นแบบนี้บทบาทที่ 2 คือการดูแลแม่ ในสภาวการณ์ ที่เขาช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ บทบาทที่ 3 อาจเป็นแฟนของผู้ชายคนหนึ่ง บทบาทที่ 4 อาจเป็นเพื่อนของใครอีกมากมาย ซึ่งพอเรามีหลายบทบาท มีหลายเหตุผลที่เรามีชีวิตอยู่ เมื่อต้องสูญเสียสิ่งใดสิ่งหนึ่งไป เราก็ยังอยู่ได้ เพราะมีหลายเหตุผลที่ต้องอยู่ต่อไป มันเหมือนยึดเหนี่ยวเราไว้”

      ด้วยเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในชีวิต สิ่งที่ผู้หญิงคนนี้ได้เรียนรู้จากประสบการณ์ตรง พายจึงให้ความสำคัญกับเรื่องความสัมพันธ์มากเป็นพิเศษ ไม่ว่าจะเป็นความสัมพันธ์กับครอบครัว เพื่อน และคนรัก แต่แน่นอนด้วยความรับผิดชอบทำให้เธอต้องทุ่มเวลาเกือบ 80 เปอร์เซ็นต์ไปกับการดูแลแม่เป็นอย่างแรก

      ‘ไม่จำเป็นต้องอยู่กันนานๆ แต่ทำทุกช่วงเวลาที่มีร่วมกันให้มีคุณค่าที่สุด’ คือหลักคิดที่พายนำมาประยุกต์ใช้กับความสัมพันธ์รอบตัว “พายออกมากินข้าวกับเพื่อนได้ 3-4 ชั่วโมงแล้วต้องกลับ เพราะต้องไปดูแลแม่ แม้จะอยู่กับเขาได้ไม่นาน แต่ไม่เคยมีใครพูดกับพายเลยว่าทำไมเราเจอกันได้น้อย พายรู้สึกว่าสิ่งเหล่านั้นเป็นหลักฐานได้ดีมากว่า อย่างน้อยก็สามารถจัดการช่วงเวลาสั้นๆ นั้นให้เขารู้สึกว่าช่วงเวลาที่อยู่ด้วยกันไม่นานก็เป็นช่วงเวลาที่ดีเพียงพอ” เธอพูดถึงการจัดการกับความสัมพันธ์รอบตัว

      ในฐานะที่เป็นผู้ประสบกับปัญหาใหญ่หลวงในชีวิตและสามารถพลิกแนวคิดในการดำเนินชีวิตต่อไปได้ พายจึงต้องทำหน้าที่เป็นผู้ให้คำปรึกษาปัญหาชีวิตของคนรอบตัวจำนวนมาก พายบอกว่า เธอพยายามตั้งใจรับฟังทุกคนที่เข้ามาปรึกษาและพยายามหาคำแนะนำที่ดีที่สุดให้กับทุกคน เธอจึงเป็นที่รักของคนรอบข้าง ย้อนกลับไปในช่วงที่แม่ป่วยแรกๆ เธอเคยรู้สึกอยากตาย เคยตั้งคำถามกับตัวเองว่า ทำไมเรื่องแบบนี้จึงต้องมาเกิดกับตัวเองด้วย

      แต่สุดท้ายเมื่อเวลาผ่านไป เธอพบว่าชีวิตยังมีคุณค่าและความหมายกับคนอื่นอีกมากมาย

..

การมองหาความสุขในช่วงเวลาที่ทุกข์นั้นทำให้ทุกข์มากกว่าเดิม เพราะ เหมือนคนจมน้ำแล้วกระเสือกกระสน อยากจะบินขึ้นไป แต่ความจริงแค่ พ้นน้ำยังทำไม่ได้เลย บางคนพยายามหาความสุขก้อนใหญ่ ต้องแต่งงาน ต้องมีลูก ต้องมีเงินเก็บให้ได้ 5 ล้านบาท ต้องซื้อบ้านให้ได้ แต่สำหรับพาย ความสุขมันไม่ใช่แค่การมองหา แต่เป็นการเห็นสุขเล็กๆ รอบๆ ตัวมากกว่า แค่วันนี้แม่กินหมดจาน แม่กลืนยาง่าย แม่บอกข้าวมื้อนั้นอร่อย แค่นี้ก็มี ความสุขแล้ว

..

เป้าหมายอันแสนงดงามของชีวิต

      จากเรื่องราวหนักหนาที่ผ่านเข้ามาในชีวิตของหญิงสาวคนหนึ่ง เธอได้เรียนรู้สิ่งต่างๆ มากมายที่เป็นประโยชน์ต่อทั้งตนเองและคนอื่น ทุกวันนี้เธอเป็นสาวที่มีรอยยิ้มสดใส “พายไม่มีความฝัน แต่มีความสุขมาก” พายบอก เธอกล่าวถึงสิ่งที่เธอค้นพบในชีวิตว่า “การมองหาความสุขในช่วงเวลาที่ทุกข์นั้นทำให้ทุกข์มากกว่าเดิม เพราะเหมือนคนจมน้ำแล้วกระเสือกกระสน อยากจะบินขึ้นไป แต่ความจริงแค่พ้นน้ำยังทำไม่ได้เลย บางคนพยายามหาความสุขก้อนใหญ่ ต้องแต่งงาน ต้องมีลูก ต้องมีเงินเก็บให้ได้ 5 ล้านบาท ต้องซื้อบ้านให้ได้ แต่สำหรับพาย ความสุขมันไม่ใช่แค่การมองหา แต่เป็นการเห็นสุขเล็กๆ รอบๆ ตัวมากกว่า แค่วันนี้แม่กินหมดจาน แม่กลืนยาง่าย แม่บอกข้าวมื้อนั้นอร่อย แค่นี้ก็มีความสุขแล้ว”พายพูดถึงเป้าหมายในชีวิตของเธอเอาไว้อย่างเรียบง่าย “พายรู้สึกว่าตอนนี้มีความสุขกับทุกๆ วันมากอยู่แล้ว เลยไม่ค่อยแน่ใจว่าเป้าหมายก้อนใหญ่ในชีวิตคืออะไร เวลานี้พายยังผ่อนบ้านต่อจากแม่ พายยังทำงานสนับสนุนคนในทีมได้ดี…เลยไม่รู้สึกว่าตัวเองมีหมุดหมายอะไรเป็นชิ้นเป็นอันนัก เพราะที่ทำอยู่ทุกวันนี้ก็โอเคมากแล้ว เป็นส่วนประกอบเล็กๆ ที่ขับเคลื่อนชีวิตไปข้างหน้า และพึงพอใจกับมันค่ะ” 

เส้นทางการเรียนรู้ครั้งใหม่ เพื่อทำความเข้าใจถึงวิธีการเรียนรู้จากภายใน  ผ่านการพูดคุยกับผู้ทรงคุณวุฒิ 6 ท่าน  ถึงแนวคิดการเรียนรู้ของชีวิตในมิติต่างๆ  และประสบการณ์ตรงที่เปลี่ยนแปลงชีวิตของกัลยาณมิตร 9 ท่านที่กรุณาบอกเล่าแบ่งปันประสบการณ์การเรียนรู้ครั้งสำคัญของชีวิต ที่ทำให้แต่ละท่านได้เข้าถึงคุณค่าแห่งชีวิตของตนและใช้ชีวิตหลังจากนั้นอย่างมีความหมาย