เรียนรู้คุณค่าแห่งชีวิต
Life is Learning Learning is Life
ระหว่างทางกลับบ้าน
สราวุธ เฮ้งสวัสดิ์ (นิ้วกลม)
นักเขียน
นิ้วกลม เป็นนักเขียนระดับปรากฏการณ์ของประเทศไทยมาอย่างยาวนาน
เขามีผลงานมาแล้วหลายสิบเล่ม หนังสือของเขาแต่ละเล่มมียอดจำหน่ายสูงในภาวะที่ว่ากันว่าสื่อสิ่งพิมพ์กำลังได้รับความนิยมน้อยลงเรื่อยๆ
หากติดตามผลงานของเขาอย่างต่อเนื่องจะสังเกตถึงความสนใจและความเติบโตของเขาที่เปลี่ยนแปลงไปตามวัยที่เพิ่มขึ้น แต่ผลงานของเขาก็ยังคงได้รับความนิยมจากนักอ่านอยู่อย่างไม่เสื่อมคลายทั้งหมดนี้อาจมีเหตุผลที่สามารถอธิบายได้อยู่ตรงที่ นิ้วกลมได้ใช้ตนเองเป็นบทเรียนในการลงไปเคี่ยวกรำอย่างลึกซึ้ง ไม่ว่าจะเป็นผ่านการทำงานในหลากหลายบทบาท รวมไปถึงการเรียนรู้และทำความเข้าใจชีวิตด้วยหลากหลายวิธีการ
สิ่งเหล่านี้ทำให้นิ้วกลมเป็นนักเขียนที่เข้าใจความเป็นมนุษย์ได้อย่างลึกซึ้ง ทั้งยังสามารถถ่ายทอด ‘สาระ’ ของชีวิตที่ได้เรียนรู้มาไปยังผู้อื่นได้ดีอีกด้วย
หากติดตามผลงานของคุณมาอย่างต่อเนื่อง จะพบว่าคุณมีความเปลี่ยนแปลง ทางด้านความคิดและตัวตนที่เข้มข้นขึ้นเป็นลำดับ รวมถึงความสนใจด้านจิต วิญญาณที่สะท้อนออกมาในงานหลากหลายรูปแบบ ทั้งงานเขียนและสารคดี โทรทัศน์ จุดเริ่มต้นแรกๆ ที่ทำให้คุณสนใจประเด็นเกี่ยวกับจิตวิญญาณคืออะไร
ครั้งเเรกที่รู้สึกว่าต้องการอะไรบางอย่างคือ ตอนอกหัก (หัวเราะ) เพราะว่าก่อนหน้านั้นมักจะคิดว่าเราเอาอยู่ ชีวิตเราเราก็คงจะแก้ปัญหาของเราได้ จัดการได้ เเต่พออกหักเเล้วมันพัง รู้สึกเหมือนโลกแตก เราชอบเปรียบเทียบความรู้สึกนั้นว่า เหมือนเรายืนอยู่บนพื้นเเล้วพื้นนั้นจู่ๆ ก็ถูกดึงออกไป พอไม่มีพื้นเราก็ลอย ไม่รู้จะเกาะอะไร เกาะไม่ได้ เพราะที่เราเกาะมาตลอดคือตัวเอง
สมัยเด็กๆ เวลาเราเซ็นเฟรนด์ชิปให้เพื่อน เราจะเซ็นว่า ความพยายามอยู่ที่ไหน ความสำเร็จอยู่ที่นั่น เมื่อย้อนกลับไปมองก็เห็นตัวเองชัดว่า เป็นคนที่เชื่อมั่นในตัวเองสูง คือเชื่อในความพยายาม เเต่ว่าตอนอกหักมันไม่ได้หมายความว่าเราไม่พยายาม เราโคตรพยายาม ในภาวะที่มันลอยเพราะไม่รู้จะเกาะอะไร นั่นเป็นครั้งแรกเลยที่รู้สึกว่า เราต้องหาอะไรเกาะ ซึ่งก็ไม่รู้ว่าสิ่งนั้นคืออะไร ในตอนนั้นเราได้อ่านหนังสือ แก่นพุทธศาสน์ ของท่านพุทธทาสภิกขุ เพราะรู้สึกว่าต้องการทำความเข้าใจว่ามันเกิดอะไรขึ้นกับเรา สิ่งที่ได้ก็คือเกิดความเข้าใจว่า โลกไม่ใช่ของเราคนเดียว ชีวิตไม่ใช่ของเราคนเดียว แต่มันขึ้นอยู่กับคนอื่นด้วย ชีวิตมีเรื่องที่เราควบคุมไม่ได้ มีหัวใจของคนอื่นอยู่ด้วย อีกอย่างที่ได้คือได้รู้จักคำว่า อิทัปปัจจยตา คือความเป็นเหตุปัจจัยต่อเนื่องกัน เมื่อได้ทำความเข้าใจเรื่องนั้นก็รู้สึกว่า หนึ่ง-เราตัวเล็กลงมาก เราไม่ได้บัญชาการโลกได้ สอง-เราเป็นเเค่จุดเล็กๆ ในภาพใหญ่มากที่มันมีการเชื่อมโยงเเละกระทบกันไป อะไรเกิดขึ้นนิดหนึ่ง ทั้งที่เรามองไม่เห็นสิ่งนั้นเลย แต่มันก็มากระทบกับเราได้ ตอนนั้นคิดว่าสิ่งนี้เป็นพื้นใหม่ให้เรายืน นอกจากพื้นที่เชื่อมั่นในตัวเอง
เรามักเติบโตขึ้นจากความผิดหวังเสมอ
ใช่ ผมว่าคำว่าอกหักมันมีความหมายกว้างมาก ในเคสของผมคือเรื่องความรัก เเต่ผมคิดว่ามนุษย์นั้นอยู่ไปเพื่อรอการอกหักจากอะไรสักอย่างหนึ่งในวันใดวันหนึ่งเสมอ ทุกคนต้องได้เผชิญกับความรู้สึกที่ว่าโลกทั้งโลกพังทลายลงมา มนุษย์เราเติบโตขึ้นมาโดยที่เราถูกเลี้ยง ถูกสอน เเละถูกบอกให้เชื่อว่าเราต้องดูเเลตัวเอง เราต้องเอาชีวิตรอดเเละเราถูกทำให้เชื่อว่าเราเอาชีวิตรอดได้ด้วย แต่ความเชื่อนั้นมันไม่จริงเลย (หัวเราะ) ที่พ่อเเม่ หรือครูสอนให้เรารู้สึกดีกับตัวเอง ให้เรารู้สึกว่าเราเก่งสารพัดสิ่ง เขาคาดหวังให้เราเป็นอย่างนั้น เเต่ว่ามันไม่จริง ในความเป็นจริงเเล้วเราเอาตัวไม่รอด เราอยู่ไม่ได้ด้วยตัวของเราเองคนเดียว แล้วเราก็ควบคุมทุกอย่างให้เป็นไปอย่างที่เราต้องการไม่ได้
คุณเริ่มต้นด้วยการอ่านหนังสือ แก่นพุทธศาสน์ ของท่านพุทธทาสภิกขุ ในตอนนั้นคุณคิดว่าอ่านยากไหม
ผมคิดว่าถ้าได้อ่านตอนที่ไม่อกหักน่าจะโคตรยากครับ (หัวเราะ) ผมไม่ได้ชอบธรรมะ ไม่เคยสนใจ เกลียดวิชาพุทธศาสนามากสมัยมัธยม เเต่พอได้อ่านตอนนั้นกลับรู้สึกว่าไม่ยาก อ่านแล้วเข้าใจ แล้วก็ติดใจไปเลยว่าธรรมะของท่านพุทธทาสฯ อาจจะเป็นเพราะเราคิดว่าเราอยู่บนเรือเเบบไททานิกที่ใหญ่และมั่นคงมากมาก่อน พอมันล่มเราก็คว้าง สิ่งนี้ก็เป็นเหมือนทุ่นสักลูกหนึ่งที่เราคว้าไว้ได้ ตอนนั้นเราก็ไม่รู้ว่าจะเอาตัวรอดไหม เเต่รู้เเล้วว่าไม่จมเเล้ว ความรู้สึกเป็นแบบนั้น ไม่เข้าใจเสียทีเดียว ไม่เห็นภาพทั้งหมด เเต่พอจะ (ทำท่าถอนหายใจ) อย่างนี้ได้
อีกความรู้สึกหนึ่งคือรู้สึกเปิดใจมาก เหมือนโดนทุบจนพัง เเล้วพอพังมันเลยอะไรก็ได้ ใครพูดอะไรก็ฟัง ความมั่นใจในตัวเองลดลง อัตตาลดลง ผมว่าคล้ายๆแก้วที่โดนเทน้ำออกหมดเเล้วมาตั้งรอเพื่อที่จะรับอะไรก็ได้เป็นภาวะที่อ่อนเเอเปราะบางมาก เเต่ดีเพราะเราพร้อมมากที่จะซึมซับทุกอย่าง ในหนังสือเล่มนั้น ท่านพุทธทาสฯ พูดเรื่องตัวกูของกูเยอะ ประโยคแบบนี้ทุบหัวเรา จริงๆ ที่เราเป็นทุกข์ เราเดือดร้อนอยู่ก็เพราะเราคิดถึงตัวเองเป็นหลัก พยายามเอาเขามาเป็นของเราให้ได้
..
ผมว่าคำว่าอกหักมันมีความหมายกว้างมาก ในเคสของผมคือเรื่องความรัก เเต่ผมคิดว่ามนุษย์นั้นอยู่ไปเพื่อรอการอกหักจากอะไรสักอย่างหนึ่ง ในวันใดวันหนึ่งเสมอ ทุกคนต้องได้เผชิญกับความรู้สึกที่ว่าโลกทั้งโลกพัง ทลายลงมา มนุษย์เราเติบโตขึ้นมาโดยที่เราถูกเลี้ยง ถูกสอน เเละถูกบอก ให้เชื่อว่าเราต้องดูเเลตัวเอง เราต้องเอาชีวิตรอด เเละเราถูกทำให้เชื่อว่า เราเอาชีวิตรอดได้ด้วย แต่ความเชื่อนั้นมันไม่จริงเลย
..
เมื่อคุณเริ่มทำความเข้าใจบางอย่างจากสถานการณ์นั้น เมื่อเวลาได้ผ่านไป ชีวิตได้นำพาเรื่องอะไรที่สำคัญเข้ามา ในชีวิตของคุณหลังจากนั้นอีกบ้าง
ผมคิดว่าปัญหาในชีวิตก็มีหลายสเต็ป เป็นไปตามวัย สมัยเป็นนักเรียน ความทุกข์ก็คือการอยากเอนทรานซ์ให้ได้ พอทำงานนอกจากเรื่องความรักแล้วก็คงเป็นเรื่องการประสบความสำเร็จในอาชีพการงาน ทำงานโฆษณาก็อยากได้รางวัล ดิ้นรน สิ่งเหล่านี้ก็เป็นความทุกข์ เป็นความทุกข์ที่เราเห็นมันเเต่ก็อยู่กับมัน เเล้วก็คิดว่าวิธีแก้ความทุกข์นั้นก็คือการทำให้ประสบความสำเร็จให้ได้ (หัวเราะ) อยากจะได้ B.A.D Awards อยากจะได้ Cannes Lions พอได้เเล้วก็อยากได้อีก อยากได้สูงขึ้นไปอีก อยากได้โกลด์ อยากได้กรังปรีซ์ ทั้งหมดนี้ก็พอจะเห็นวังวนของตัวเองแต่ก็ไม่ได้พาตัวเองออกจากวังวนนั้น
จริงๆ แล้วพอเริ่มอ่าน แก่นพุทธศาสน์ ก็ค่อยๆ ที่จะสนใจหนังสือธรรมะมากขึ้น ผมเป็นคนชอบอ่านหนังสือก็เลยได้เรียนรู้ธรรมะผ่านการอ่านเยอะมาก ติช นัท ฮันห์ ก็อ่าน ดาไล ลามะ ก็อ่าน อ่านหลากหลาย รู้เรื่องบ้าง ไม่รู้เรื่องบ้าง แต่รู้สึกว่าบางเนื้อหาในนั้นมันเยียวยาเรา มันดึงเราให้เราชะลอๆ ลงบ้าง ทะเยอทะยานให้มันน้อยลงบ้าง รู้สึกว่าอ่านเเล้วใจเย็น
ถัดจากนั้นไป นอกจากเรื่องงานก็เข้าสู่อีกห้วงหนึ่ง ระหว่างทางมีเรื่องเกิดขึ้นในชีวิตเยอะ เรื่องพ่อเเม่เจ็บป่วย เป็นอีกช่วงหนึ่งที่เอาไม่อยู่เลย จริงๆ หลังจากสเต็ปที่เราบ้าความสำเร็จ มันก็เข้าสู่อีกห้วงหนึ่งคือห้วงเบื่อความสำเร็จ ซึ่งห้วงนี้ผมว่าหนัก เป็นสิ่งที่ไม่เห็นตัวเองเเล้วก็ไม่รู้จะออกไปยังไง รู้เเต่ว่ามันเบื่อหน่าย มันมืดๆ เทาๆ มึนๆ
คล้ายๆ กับสิ่งที่เขาเรียกว่า Midlife Crisis หรือเปล่า
ผมว่าคล้ายๆ อย่างนั้น เหมือนเราใช้ชีวิตมาประมาณ 35 ปี เทียบแล้วก็ประมาณ ครึ่งชีวิต ได้ผ่านอะไรมาเยอะ ความตื่นเต้นของวัยเด็กเเละวัยรุ่นหมดไปเเล้ว ไม่ได้ดูโลกด้วยสายตาของเด็กอีกต่อไป เริ่มรู้สึกกับทุกอย่างว่า ‘อืม ก็ประมาณนี้หรือเปล่าวะ’ ไปเที่ยวก็รู้สึกว่า ‘ก็ประมาณนี้หรือเปล่าวะ’ ออกหนังสือใหม่ ‘ก็ประมาณนี้หรือเปล่าวะ’ คำนี้น่ากลัวมาก ‘โลกก็คงประมาณนี้ ชีวิตก็คงประมาณนี้นั่นเเหละ’ วนเวียนคิดอยู่เเค่นั้น
แต่ผมว่าสาเหตุของความรู้สึกนี้ก็คือ หนึ่ง-ภาวะของอายุเเละฮอร์โมนมันคงถึงจุดนั้น สอง- ผมว่าปัจจัยทางสังคมก็น่าจะเกี่ยว ผมรู้สึกว่าเรากำลังอยู่ในสังคมที่มีความกดดัน เราอยู่กันท่ามกลางความขัดเเย้งที่สูงมาก สิทธิเสรีภาพไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย อีกส่วนก็เป็นเรื่องของวัฒนธรรม เรายังไม่เปลี่ยนผ่านไปสู่สังคมที่ยอมรับความคิดเห็นกันด้วยความเคารพ คือคุณไม่เห็นด้วยก็ได้ หรือว่าคุณจะด่าก็ได้ เถียงก็ได้ เเต่สังคมไทยยังไปไม่ถึงจุดนั้น เรามีความเกลียดชัง กระทั่งพร้อมจะลงมือทางร่างกาย มันน่ากลัวเกินกว่าที่จะเเสดงความคิดเห็น ซึ่งไม่ดีเลยกับการทำอาชีพสื่อ เพราะว่าสื่อนั้นควรจะได้เเสดงทัศนะและเเลกเปลี่ยนทางปัญญากัน เมื่อเราเป็นคนเขียนหนังสือ เราทำรายการทีวี นี่เป็นภาวะที่เเคบมาก เมื่อเราอยู่ในสังคมที่ขัดเเย้ง สิ่งที่คุณควรจะสนใจมากที่สุดคือเราจะข้ามผ่านความขัดเเย้งนี้อย่างไร เราควรจะโยนไอเดียบางอย่างที่จะคลี่คลายความขัดเเย้งนี้ โยนคำพูดบางอย่างที่จะสร้างบทสนทนาเพื่อเพิ่มความเข้าใจ เมื่อไม่มีพื้นที่ให้ทำสิ่งนั้นก็อึดอัด คราวนี้ก็คับเเคบไปหมด วิชาชีพเเคบลง ช่วงวัยก็บีบคั้น นี่คือภาพรวมของความรู้สึกนั้น รู้สึกมาก และพอเริ่มสนใจสังคมการเมืองก็มาอ่านหนังสือวิชาการเยอะขึ้น สิ่งที่หายไปจากตัวเองก็คือ ความรู้สึกหรือว่าหัวใจ นี่คิดเยอะขึ้นแต่ใช้ความรู้สึกน้อยลงมาก พอคิดเยอะๆ มันก็วนกับการคิด บางวันก็รู้สึกว่าขี้เกียจตื่นขึ้นมา ไม่ถึงกับซึมเศร้า เเต่ก็รู้สึกว่าไม่รู้จะอยู่ไปทำไม เบื่อๆ ทั้งๆ ที่ผมไม่เคยเป็นอย่างนั้นมาก่อน
คุณแก้ปัญหานี้อย่างไร
แรกเลยก็คือการปั่นจักรยาน แต่ภาพรวมทั้งหมดคลี่คลายด้วยการเคลื่อนไหวทางร่างกาย เพื่อนเป็นคนที่สังเกตเห็นสิ่งนี้ในตัวผม เวลาที่ผมมองตัวเองหรือคนรู้จักกันมอง จะเห็นว่าผมเป็นคนที่มีพลัง ใครอยู่ใกล้ก็จะรู้สึกว่ากระตือรือร้น ยุให้ใครต่อใครทำอะไรเสมอๆ รู้สึกว่ามองโลกในเเง่ดี เเต่ในตอนนั้นไม่ใช่เลย กลายเป็นอีกคน พอเพื่อนเห็นก็บอกว่า ผมคิดเยอะเกินไปเลยชวนไปขี่จักรยาน เขาพูดง่ายๆ ว่า มึงลองไปปั่นจักรยานให้ได้สัก 200 กิโลฯ กูว่ามึงจะหมดคำถามว่าชีวิตคืออะไร อยู่ไปทำไม
ครั้งนี้หนังสือธรรมะช่วยคุณได้ไหม
ในช่วงเวลาที่มีความทุกข์ก็เหมือนเดิม ผมก็หยิบหนังสือธรรมะขึ้นมา เเต่ครั้งนี้ไม่เยียวยา คือมันช่วยลดทอนให้ดีขึ้นได้ แต่ก็ยังวนอยู่ในเมฆดำนั้น
การได้ไปออกกำลังกายเปลี่ยนแปลงคุณอย่างไร
ผมว่ามันพลิกพฤติกรรม รู้สึกเลยว่า สิ่งที่หายไปจากชีวิตคือการใช้ร่างกาย นี่แหละ พอสนใจเรื่องการใช้ร่างกายก็เลยค่อยๆ สังเกต ค่อยๆ รู้สึกว่าการเป็นมนุษย์เเล้วเอาเเต่ใช้สมองหรือใช้ความคิดนั้นเป็นการใช้ศักยภาพของมนุษย์ที่ต่ำมาก เพราะจริงๆ เเล้ว มนุษย์สามารถเรียนรู้ เติบโต และมีศักยภาพได้อีกมหาศาล
ตอนนี้ผมสนใจเรื่องธรรมชาติ ผมเพิ่งไปค่าย Nature Methods ของมูลนิธิโลกสีเขียว เขาบอกว่ามนุษย์มีเซนส์ 54 อย่าง แต่เราใช้อยู่แค่ 5 อย่าง ซึ่งเซนส์ที่เหลือ เราอาจจะใช้อยู่เเต่เราไม่รู้ เราพยายามจะใช้สมองตลอด ซึ่งทำให้เราเเคบมาก นี่คือสิ่งที่ได้เรียนรู้ พอเราได้ขยับร่างกายจึงได้ทำความเข้าใจหลายอย่าง อย่างเเรกคือได้ความสบายใจ อย่างที่สองคือรู้สึกว่ามีปัญญาบางอย่างอยู่ในการเคลื่อนไหวด้วย ในช่วงก่อนหน้านั้นผมได้ไปทำรายการ พื้นที่ชีวิต เรื่องของ เลโอ ตอลสตอย ถ้าได้อ่านหนังสือ คำสารภาพ ของ ตอลสตอย จะรู้เลยว่าตอลสตอยซึมเศร้าเเน่นอน คือเขาเขียนด้วยความวนเวียนมาก พอได้กลับไปอ่านหนังสือเล่มนี้อีกรอบหลังจากทำรายการ ผมรู้สึกว่าเขามีภาวะเหมือนกับที่ผมเป็น เพราะวนเวียนถามแต่ว่า ชีวิตเกิดมาทำไม มันคืออะไรกันแน่ พูดถึงความรัก พูดถึงศาสนา วนเวียนอยู่อย่างนี้ แต่ตอลสตอยมีกิจวัตรประจำวันอย่างหนึ่ง คือบ้านเขาเป็นคฤหาสน์ใหญ่บนเนื้อที่ไม่รู้กี่ไร่ มีป่าสนที่ปลูกต้นไม้เอง ทุกวันบ่ายสองถึงบ่ายสามโมง เขาจะต้องออกมาสับต้นไม้หรือทำงานเเรงงานวันละชั่วโมงถึงสองชั่วโมง ผมว่ามันเป็นสิ่งที่ทำให้เขาอยู่รอดเขาอาจจะไม่เข้าใจก็ได้ว่าทำไม เหมือนที่ผมก็ไม่เข้าใจที่ต้องไปปั่นจักรยานหรือวิ่ง ทุกวันนี้ก็ยังไม่ค่อยเข้าใจ (หัวเราะ) เเต่เข้าใจบางอย่างว่าชีวิตยังมีอย่างอื่น นอกเหนือจากความคิด
สิ่งนี้เยียวยาคุณได้อย่างเด็ดขาดไหม
ค่อยๆ บรรเทาลง เเต่อย่างน้อยที่สุด จากที่เคยรู้สึกว่าอยู่ในคุก มันเหมือนเราเจาะรูคุกนั้นออกเเล้วควันค่อยๆ เล็ดออกไป เเสงสว่างค่อยๆ ลอดเข้ามา มันเห็นว่าเรามีความหวัง ผมเลยเขียนหนังสือเรื่อง เเสง คือความรู้สึกนั้นว่า มันมีอย่างอื่นอยู่ มีภาวะอื่นนอกจากที่เราคิด มันเหมือนเราเห็นสิ่งนี้เเล้วเราเห็นความเล็กมากของโลกที่เราอยู่ มันอยู่ในนี้จริงๆ เเค่นี้
นอกจากการเคลื่อนไหว คุณเรียนรู้อะไรจากการไปวิปัสสนาบ้าง
ได้เรียนรู้เยอะเหมือนกัน การไปวิปัสสนาทำให้เห็นชัดมากว่า เราเป็นคนขี้คิดมากเลย เเละสิ่งที่โหดร้ายคือ การไปให้คุณค่ากับความคิด ไปศรัทธา ยกย่องมัน อยากเป็นนักคิด คิดว่าคิดเก่งๆ เเล้วเจ๋ง พอช่วงทำโฆษณา ใครคิดเก่งก็อยากจะเป็นแบบเขา เป็นนักเขียนพอใครเป็นนักคิดนักเขียนเก่งๆ เราก็ชื่นชม ตอนที่ไปศูนย์วิปัสสนากรรมฐานธรรมสีมันตะ ของอาจารย์โกเอ็นก้า ได้เห็นอีกอย่างหนึ่ง คือ ชีวิตเรามีช่วงปลอดจากความคิดด้วยนะ มันพลิกมุมมองเราไปเลย มันทำให้เราเห็นว่าความคิดมีด้านร้ายอยู่ ใน 10 วันนั้นความคิดก็เป็นยาพิษอีกแบบหนึ่ง เเม้ว่าการปฏิบัติธรรมจะไม่ควรต้องมีเป้าหมายอะไร เเต่ผู้ปฏิบัติธรรมมือใหม่อย่างผมก็มีเป้าหมายว่าอย่างน้อยขอให้จิตใจสงบ พอเรามีเป้าหมายนั้น เมื่อไหร่ที่ความคิดเเทรกเข้ามาเราก็จะเห็นมันเเละเริ่มจับมันคล้ายๆ กับจับเเมลง มันก็กลับไปอีกด้าน เพราะในช่วงเวลา 10 วันนั้นกลับกลายเป็นว่าความคิดเป็นสิ่งที่เราไม่อยากเห็น ไม่อยากให้มันผุดขึ้นมา เเล้วก็อาจจะเป็นครั้งเเรกๆ ของชีวิตเลยก็ว่าได้ที่ได้สัมผัสความรู้สึกสงบที่ไม่ได้มีความคิด อาจจะเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่สั้นมากเเต่ก็ได้สัมผัส รู้สึกว่ามีอย่างนี้ด้วยเหรอ
จากศูนย์วิปัสสนากรรมฐานธรรมสีมันตะ เราเหมือนได้ฐานอะไรบางอย่างมาประคองตัวเองไว้อยู่เรื่อยๆ พอได้ทำรายการ พื้นที่ชีวิต ก็มีหลายตอนที่เราได้ทำเรื่อง สติ เรื่องการรู้สึกตัว หรือกระทั่งการได้ไปเจออาจารย์เขมานันทะ ประสบการณ์ที่เเกจับนิ้วเราเเน่นๆ ประสบการณ์บางอย่างนี้มันลึกซึ้ง มันตรึง เหมือนมีอะไรบางอย่างปักไว้ในใจเรา เวลาเราหลุดไป มันก็จะค่อยๆ กลับมา มีรายการพื้นที่ชีวิต ตอนหนึ่งพูดถึงเรื่อง ความรู้สึกตัว ผมได้ไปสัมภาษณ์คนหลายเเบบมาก บางคนเป็นพนักงานร้านเสริมสวย เขาก็ฝึกสติด้วยการทาเล็บ ผมเลยรู้สึกว่ารูปแบบมันหลากหลายมาก ติช นัท ฮันห์ บอกว่าให้ล้างจาน ฉะนั้นการปฏิบัติธรรมจึงคล้ายการไปเข้าค่ายเเล้วอยู่ในรูปแบบที่เขากำหนด เเละอาจจะคลีนตัวเองได้มากกว่าในชีวิตประจำวันเพราะไม่ต้องเจออะไร ผมได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ เยอะ การได้วิธีการฝึกสมาธิแบบเคลื่อนไหวของหลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ ทำให้รู้สึกว่าข้อดีที่เเตกต่างจากของท่านอาจารย์โกเอ็นก้า คือ มันมีสติอยู่กับกาย เเต่ของท่านอาจารย์โกเอ็นก้า มันเหมือนเข้าไปอยู่ในนี้ (ชี้เข้าที่ตัว) เข้าไปอยู่ในร่างกาย เพราะว่ามันคือการดูจิต ดูความรู้สึก ของหลวงพ่อเทียนนั้นเหมือนเรายังอยู่เรายังเห็นอยู่ อาจจะคิดเเต่เราก็ยังอยู่กับมือ กับสิ่งต่างๆ รู้สึกว่า ฉันน่ะ ยังอยู่ร่วมกับคนอื่น แล้วก็ปฏิบัติแบบเคลื่อนไหว ในขณะเดียวกันก็รู้สึกตัว
ตอนเดินจงกรมที่วัดป่าโสมพนัสก็โหดมาก ผมไม่เคยรู้สึกว่าการเดินจะโหดขนาดนี้ สิ่งที่ได้เรียนรู้ชัดมาก คือเราไม่เคยรู้เลยว่าความง่วงคือกิเลส เเละความง่วงก็โหดมาก ผมเห็นตัวเองหลายอย่าง สิ่งที่ได้อีกอย่างจากวัดป่าโสมพนัสที่ต่างจากศูนย์วิปัสสนากรรมฐานธรรมสีมันตะก็คือ ขันติ และวิริยะ ได้ความอดทนสูงมากเหมือนฝึกทหาร เเละได้ความมานะขยันทำ แต่เเก่นของทั้งสองที่คงจะเหมือนกัน เพราะสิ่งที่พบเจอระหว่างการปฏิบัติก็คือ อนิจจัง เห็นความทุกข์ได้ชัด ความทุกข์ที่ทนได้ยาก การนั่งเฉยๆ หรือการเดินเเล้วเจ็บมากๆ หรือการนั่งเเล้วต้องทำจังหวะไปด้วย มันทำให้เกิดความไม่เป็นไปตามที่เราอยากจะให้เป็น เป็นทุกข์ พอเป็นทุกข์ เราก็ทันความคิดหรือสิ่งที่เราจะตีความไปมากขึ้น พอทันมากขึ้น เราก็จะเริ่มเห็น อย่างของท่านอาจารย์โกเอ็นก้านั้นชัดมาก เห็นเลยว่าส่วนที่เคยเมื่อยหรือปวด พอเราเคลื่อนจิตสังเกตความรู้สึกอีกที ความรู้สึกนั้นก็หายไปเเล้ว หรืออย่างของวัดป่าโสมพนัสก็เหมือนกัน คือสิ่งที่เราเคยเจ็บหรือเคยทนไม่ไหวมันกลับหายไปได้ เบาได้ คิดว่าหลักๆ การปฏิบัติทั้งหลายนั้นเป็นรูปแบบในระดับที่ไม่ลึก อาจจะทำให้เกิดสิ่งที่สะอาด หรือนิ่งพอที่จะเห็นความคิดของเราที่เกิดขึ้นมา สิ่งที่เราเข้าใจคือ ทุกอย่างคือการตีความของเรา ทันทีที่มีความคิด มันก็คือฉัน ทันทีที่มันมีฉัน ก็จะมีบวกหรือลบ เเต่เมื่อไหร่ก็ตามที่เราเห็นความคิดความรู้สึกนั้นแล้วเริ่มตีความ เมื่อไหร่ที่เกิดกระบวนการนี้ นั่นก็เป็นทุกข์ ถ้าเกิดพูดถึงคำสอนของพระพุทธเจ้าก็คือ การมุ่งไปสู่ทางที่พ้นทุกข์ การปฏิบัติธรรมก็อาจจะมีฟังก์ชั่นนั้น ทำให้เราเห็นกระบวนการของความทุกข์ที่เกิด เเละดับภายในจิตใจ เเละรู้เท่าทันมัน
คุณลงมือเรียนรู้ด้วยการทำหลายอย่าง ทั้งการค้นหาความหมายของชีวิตผ่านการทำรายการพื้นที่ชีวิต ไปฝึกวิปัสสนากรรมฐาน รวมถึงการเดินขึ้นภูเขาหิมาลัยที่มาของหนังสือ หิมาลัยไม่มีจริง สิ่งเหล่านี้ย่อมไม่ใช่เรื่องบังเอิญ คุณมีเป้าหมายในการทำทั้งหมดนี้เพื่ออะไร
ผมคิดว่ามันคงมีเป้าหมายอะไรบางอย่างอยู่ ถ้าตอบเเบบพื้นๆ เลยก็คือคงไม่อยากมีความทุกข์ เเต่ลึกๆ ข้างในใจคงเป็นความรู้สึกแสวงหาอะไรบางอย่าง ตรงนี้อาจจะไม่ชัดมาก เท่าที่เข้าใจตอนนี้อาจจะตอบว่า เราก็คงแสวงหาการกลับบ้าน ช่วงหลังๆ ผมรู้สึกเยอะว่า ตัวเองเหมือนลูกหลงทาง เคยอยากออกจากบ้าน ตรงไหนมีที่ที่เขาบอกว่าสวยก็อยากไปเห็น มียอดเขาที่เขาขึ้นไปพิชิตกันมาก็ไปด้วย เดินออกมาจากบ้านมากขึ้นเรื่อยๆ จนวันหนึ่งรู้สึกว่ามีอะไรบางอย่างหายไป มันแหว่งๆ เเต่ก็ไม่รู้ว่าอยู่ที่ไหน เเต่พอได้หยุด ได้คิดดูดีๆ ก็ได้รู้ว่าสิ่งนั้นอยู่ที่บ้าน เเต่บ้านนั้นไม่ต้องเดินกลับไป บ้านนั้นใหญ่มาก บ้านคือทั้งหมดนี้เลย เราคิดว่าความรู้สึกส่วนลึกอาจจะเป็นแบบนั้นก็ได้ คือ บ้านเราอยู่ไหน กลับยังไง ตอนนี้เราเห็นบ้านเเล้ว รู้ว่าบ้านอยู่ตรงไหน แต่ก็ไม่ใช่กลับไปได้แบบที่อยากจะกลับ ต้องมียานพาหนะ มีกระบวนการ
..
ผมคิดว่ามันคงมีเป้าหมายอะไรบางอย่างอยู่ ถ้าตอบเเบบพื้นๆ เลยก็คือ คงไม่อยากมีความทุกข์ เเต่ลึกๆ ข้างในใจคงเป็นความรู้สึกแสวงหา อะไรบางอย่าง ตรงนี้อาจจะไม่ชัดมาก เท่าที่เข้าใจตอนนี้อาจจะตอบว่า เราก็คงแสวงหาการกลับบ้าน ช่วงหลังๆ ผมรู้สึกเยอะว่า ตัวเองเหมือน ลูกหลงทาง เคยอยากออกจากบ้าน ตรงไหนมีที่ที่เขาบอกว่าสวยก็อยาก ไปเห็น มียอดเขาที่เขาขึ้นไปพิชิตกันมาก็ไปด้วย เดินออกมาจากบ้าน มากขึ้นเรื่อยๆ จนวันหนึ่งรู้สึกว่ามีอะไรบางอย่างหายไป
..
อยากให้คุณช่วยขยายความคำว่า ‘บ้าน’ เพิ่มเติม บ้านในความหมายนี้ของคุณ คืออะไร และเราจะกลับบ้านได้อย่างไร
ด้วยสติปัญญาที่มีตอนนี้ ซึ่งอาจจะไม่ถูกต้องก็ได้ ผมรู้สึกว่าทุกอย่างที่เขาพูดๆ กัน คือ พระเจ้า คือ ความเป็นหนึ่ง คือ ธรรมชาติ ทั้งหมดนี้คือสิ่งเดียวกัน ซึ่งสิ่งนี้ก็คืออนัตตาด้วย ยิ่งได้ไปเดินป่ายิ่งเห็นชัด การไปเดินภูเขาหิมาลัยทำให้ผมยิ่งเห็นชัดมาก ชัดระดับที่ไม่ต้องคิดเลย มันเข้าไปอยู่ในตัวเราเอง เราไม่มีทางมีชีวิตได้เลยถ้าไม่มีก้อนเมฆ ไม่มีภูเขา ไม่มีโตรกผาที่น้ำละลายไหลลงไปเป็นเเม่น้ำ เราก็เห็นว่าน้ำนั้นไหลลงไป มีต้นไม้ เล็กๆ ขึ้น ไลเคนที่กำลังย่อยซากไม้ เราเห็นกระบวนการเหล่านี้ผ่านสิ่งที่ไม่ใช่เหตุผล ผ่านสิ่งที่ไม่ได้อธิบายด้วยคำพูด เราหายใจออกมาเราก็เป็นสิ่งนี้ เราหายใจเข้าไป เราก็เอาสิ่งนี้เข้าไปเป็นเรา เเล้วสิ่งนี้ อากาศก็ไม่ใช่อากาศ เราแค่ไปตั้งชื่อมัน เเต่อากาศที่เราเรียกก็คือสิ่งที่ใบไม้ใบนั้นคายออกมานั่นเอง เมื่อวานสิ่งนั้นอาจจะอยู่ในร่างกายไส้เดือนสักตัวหนึ่ง พอเรียกชื่อสิ่งนั้นก็ไม่ใช่ นี่คือเต๋า เต๋าเอ่ยนามไม่ได้ ทันทีที่คุณเอ่ยนาม เต๋าก็ไม่ใช่เต๋า นั่นคือทุกอย่าง ผมคิดว่าทุกอย่างคือสิ่งเดียวกันที่เราเข้าใจตอนนี้ ที่ตระหนักอยู่ตลอดเวลาคือ นี่คือ ‘ฉัน’ นั่นคือ ‘โลก’ ทั้งหมดนั้นคือสิ่งเดียวกัน แล้วมันก็คือบ้าน ที่เราหาบ้านไม่เจอเพราะว่าบ้านนั้นคือเราเเละเราก็คือบ้าน
ข้อดีที่สุดอย่างหนึ่งของคุณคือการลงมือทำในทุกเรื่องที่สนใจอย่างจริงจัง แม้ว่าคนอื่นจะมีความสนใจเช่นเดียวกันแต่ไม่กล้าหาญพอที่จะลงมือทำอย่างจริงจังเช่นที่คุณทำ อะไรที่ทำให้คุณไม่กลัวที่จะลงมือทำสิ่งต่างๆ
เมื่อถอยออกมาดู เราจะพบว่าชีวิตเราทั้งหมดอยู่ในพื้นที่ที่เเคบมาก ชีวิตเราถูกบงการด้วยระบบหลายๆ อย่าง เป็นระบบของระบบ เป็นระบบที่ซ้อนไปซ้อนมา คำสอนที่ถูกปลูกฝัง วัฒนธรรม ความเชื่อประเพณี พ่อเเม่ ฯลฯ เยอะในระดับที่เราไม่มีทางจินตนาการออกว่าตาข่ายที่ซ้อนหรือขังเราไว้นั้นเล็กเเค่ไหน
อย่างหนึ่งที่สำคัญมากคือระบบของการศึกษา เพราะเรากำลังพูดถึงเรื่องการเเสวงหาทางจิตวิญญาณซึ่งผมคิดว่านั่นคือการเรียนรู้ที่สำคัญมากของมนุษย์ แต่ความเคยชินในการเรียนรู้ของเราหรือของมนุษย์ยุคนี้ เราเชื่อกันว่า ความรู้อยู่ในโรงเรียน เราเชื่อว่าความรู้อยู่ในปากครู อยู่บนกระดานดำ ตำรา ซึ่งนั่นเป็นความเชื่อที่แคบมาก เพราะความจริงต้นไม้ก็มีความรู้ เมฆก็มีความรู้ให้เรา พื้นดินก็มีความรู้ และนั่นคือสิ่งที่เราไม่รู้
ถ้าเรามองไม่เห็นสิ่งนี้ เราก็จะยังไม่เชื่อว่าเราต้องลงมือทำ เราโตขึ้นมาในระบบ เราเข้าโรงเรียนอนุบาล ประถม เราเห็นแต่ตำรา กระดานดำ ตัวหนังสือ เราอยู่ในโลกที่เรียนรู้ผ่านการสมมติ เมื่อสิ่งหนึ่งถูกให้ค่า อีกสิ่งหนึ่งก็จะถูกลดค่า คือเมื่อเราศรัทธาในความคิด เราก็ไม่รู้สึกว่าการกำดินขึ้นมานั่นคือการเรียนรู้ การลองหยิบถั่วงอกดิบๆ เคี้ยวเข้าไปคือการเรียนรู้ เราอมน้ำทะเลนั่นก็คือความรู้ การฟังเสียงนกที่ไม่เหมือนกัน นี่คือการลงมือทำทั้งหมด เเละมันจะเกิดขึ้นไม่ได้เลย ถ้าระบบการศึกษาหรือครูยังไม่เปิดศักยภาพของพวกเรา ไม่เล่นกับเซนส์ของพวกเรา เรามีตา จมูก ลิ้น กาย ใจ แต่เราใช้ตาเยอะที่สุด หูเราเเทบไม่ได้ใช้เลย ส่วนลิ้น ครูก็ไม่เคยเอาอะไรมาให้เราชิมเลย ซึ่งเป็นสิ่งที่เราควรทำ เพราะการเรียนรู้ผ่านสมองและตา เป็นการเรียนรู้ที่เเคบมากๆ มากจนทำให้เราห่างไกลจากความจริง สิ่งที่จริงมากๆ คือสิ่งที่คุณได้ชิมด้วยตัวเอง ได้เหนื่อยด้วยตัวเอง ได้ยินด้วยตัวเอง สิ่งเหล่านี้สำคัญมาก เพราะมันคือชีวิตของเรา เราต้องรู้สิ่งที่มันจำเป็นกับชีวิตของเรา
เส้นทางการเรียนรู้ครั้งใหม่ เพื่อทำความเข้าใจถึงวิธีการเรียนรู้จากภายใน ผ่านการพูดคุยกับผู้ทรงคุณวุฒิ 6 ท่าน ถึงแนวคิดการเรียนรู้ของชีวิตในมิติต่างๆ และประสบการณ์ตรงที่เปลี่ยนแปลงชีวิตของกัลยาณมิตร 9 ท่านที่กรุณาบอกเล่าแบ่งปันประสบการณ์การเรียนรู้ครั้งสำคัญของชีวิต ที่ทำให้แต่ละท่านได้เข้าถึงคุณค่าแห่งชีวิตของตนและใช้ชีวิตหลังจากนั้นอย่างมีความหมาย