มหาวิทยาลัยคือชีวิต ที่มีศิษย์มีครูผู้ขยัน
เพื่อหยั่งรู้คุณค่าสาระพันธ์ ให้มุ่งมั่นจากใจในตนเอง
ดวงอาทิตย์ดวงดาวดูพราวฟ้า กิเลสพากำหนดจิตคิดดีชั่ว
หากบุคคลอยู่อย่างไม่ลืมตัว ย่อมรู้ดีรู้ชั่วด้วยตัวเอง
ระพี สาคริก (๒๓ ส.ค. ๕๓)
“อันที่จริงแล้วคำว่า มหาวิทยาลัยนั้นถ้านำมาแปลเป็นภาษาอังกฤษมันก็ควรจะหมายถึงการเรียนรู้จากทุกสิ่งทุกอย่างที่ปรากฏเปลี่ยนแปลงอยู่ในโลกภายนอกโดยมีเหตุและผล สานถึงกันหมด “มหาวิทยาลัยของแผ่นดิน” ก็ควรจะหมายถึงสิ่งที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ในวิถีการดำเนินชีวิตของตัวเธอเอง ซึ่งสิ่งนี้อยู่บนพื้นฐานวัตถุที่ตัวเธอควรจะรู้เท่าทันทำให้กล้าก้าวเข้าไปหามันอย่างผู้กล้าหาญให้ได้”
ทำไมต้องเปิด ตลาดคุณปู่@ระพีพิพิธ ที่อาศรมศิลป์
“ระพีพิพิธ” คือพิพิธภัณฑ์ที่กำลังจะเกิดขึ้นในสถาบันอาศรมศิลป์ โดยวัตถุประสงค์เพื่อเป็นอนุสรณ์เล่าชีวิต ศ.ระพี สาคริก รำลึกคุณูปการในด้านต่าง ๆ เช่น การเกษตรแผ่นดิน กล้วยไม้สร้างคน ครูผู้อุทิศตนเพื่อสังคมไทย และนายกสภาสถาบันอาศรมศิลป์ท่านแรก
ด้วยสถาบันอาศรมศิลป์เชื่อมั่นในการเรียนรู้แบบลงมือทำ เรียนผ่านประสบการณ์จึงเกิดเป็นความรู้ที่ฝังลึกได้ และหน้าที่ของสถาบันการศึกษาก็คือออกแบบและจัดสภาพแวดล้อมที่เอื้อให้เกิดการเรียนรู้นั้น โดยหลอมรวมให้สอดคล้องไปกับวิถีของชีวิต ซึ่งตรงกับที่ ศ.ระพี สาคริก ได้มอบความหมายของมหาวิทยาลัยไว้
เมื่อสถาบันการเรียนรู้ ชุมชน สิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจท้องถิ่น มาเชื่อมโยงกัน “ตลาดคุณปู่@ระพีพิพิธ” จึงเกิดขึ้น
“อาหาร” เชื่อมโยงทุกสิ่ง ให้ได้เรียนรู้กัน
เริ่มแรกที่สถาบันอาศรมศิลป์ เข้าศึกษาเรื่องตลาดจากเครือข่ายในหลากหลายพื้นที่ทั้งพื้นที่รอบเขตบางขุนเทียน และเครือข่ายในจังหวัดอื่น เพื่อค้นหาผู้ผลิตที่ใส่ใจผู้บริโภค ผลิตอย่างรักษาสิ่งแวดล้อม และการออกแบบพื้นที่ตลาดที่สอดคล้องกับการใช้งาน ซึ่งเป็นการทำงานร่วมกันของส่วนสถาบันการศึกษาและสตูดิโอสถาปนิก
กลุ่มเป้าหมายหลักคือนักเรียนโรงเรียนรุ่งอรุณและชุมชนโดยรอบ แม้ว่าตลาดจะดูห่างไกลเด็กๆ ในช่วงสองปีที่ผ่านมา แต่เมื่อทุกอย่างเริ่มคลี่คลาย การได้ออกจากห้องเรียนมาจับจ่ายในตลาด จึงเป็นการเปิดประสบการณ์ใหม่หลังสถาการณ์คิดโควิดเป็นอย่างมาก สร้างกระบวนการเรียนรู้หลายด้าน แถมสนุก อีกทั้งยังได้รู้จักท้องถิ่นอื่นผ่านสินค้าชุมชนอีกด้วย
ผู้ผลิต แม้หลายร้านจะไม่เคยมีลูกค้าเป็นเด็กๆ มาก่อน แต่ก็พร้อมปรับเปลี่ยน กลายเป็นผู้แลกเปลี่ยนความรู้อยู่เสมอ
นักศึกษา สำนักการประกอบการทางสังคมของสถาบันอาศรมศิลป์ เข้าร่วมออกแบบการจัดการร้านค้า จัดหมวดสินค้า เรียนรู้ความต้องการผู้บริโภค และการประชาสัมพันธ์
“คือเราเรียกอาจารย์ระพีว่าคุณปู่ จึงเป็นที่มาชื่อตลาดคุณปู่ ต่อไปก็จะมีพิพิธภัณฑ์ท่านที่นี่ ตลาดนี้ก็เชื่อมโยงมาจากพิพิธภัณฑ์ อยากให้รำลึกถึงคุณงามความดีของผู้มีอุปการะคุณของแผ่นดิน ท่านเป็นสำคัญบุคคลของมนุษยชาติ ไม่ใช่แค่ประเทศไทย ดังนั้นการบูชาครูอาจารย์ด้วยการจัดกิจกรรมทำเพื่อสังคมแบบนี้ ถือเป็นมงคลชีวิต ปูชา จะ ปูชะนียา นัง เอตัมมังคะละมุตตะมัง การบูชาผู้ที่ควรบูชาถือเป็นมงคลอย่างยิ่ง เป็นการปฏิบัติบูชาที่ดี” ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร (อ.ยักษ์) อาจารย์ผู้รับผิดชอบหลักสูตรศิลปศาตร์บัณฑิต
ภายในหอศิลป์ไม้ไผ่ของสถาบันอาศรมศิลป์จึงไม่เป็นแค่ตลาด แต่เป็นพื้นที่แลกเปลี่ยน สร้างเครือข่ายผู้สนใจชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อม และเป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงความร่วมมือจากหลายภาคส่วนไว้ด้วยกัน
เสียงสะท้อนจากนักศึกษา เรียนวิชาชุมชนจนถึงวิชาการตลาด ที่ตลาดคุณปู่@ระพีพิพิธ
ยามเช้าที่หอศิลป์ไม้ไผ่ สถาบันอาศรมศิลป์ เป็นเวลาที่ร้านค้าเริ่มตั้งแผงสินค้าชุมชน และเมื่อถึงเวลาลูกค้าทั้งรุ่นเล็ก รุ่นใหญ่ นักเรียน ครู พนักงาน ผู้ปกครอง และชุมชนรอบสถาบัน เข้ามาการจับจ่ายใช้สอยในตลาด ความขวักไขว้ ความวุ่นวายนี้ จะเป็นห้องเรียนชั้นดีให้กับนักศึกษาของสำนักการประกอบการสังคม ได้อย่างไร
เปิดกว้างห้องเรียนการประกอบการเพื่อสังคมให้ใหญ่ขึ้น เข้าใจความต้องการชุมชน และสร้างประสบการณ์จริงในการเรียน
“มันเป็นสภาพแวดล้อมที่ต่างไปจากที่คุ้นเคย เดิมจากที่เราอยู่ที่ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติมาบเอื้อง และศูนย์ที่ปราจีนบุรี เราต้องต้องปรับตัวเมื่อมาอยู่ที่นี่ (สถาบันอาศรมศิลป์) การแต่งตัวให้เหมาะสมกับพื้นที่ และมีหลายส่วนงานที่ต้องพูดคุย ประสาน ทำให้เห็นว่าจากงานที่ทำกันเองไม่กี่คน แต่พอปรับใหม่งานนั้นจะต้องกรองหลายชั้น ปรับให้เข้ากับทุกคนทุกด้าน” นางสาวเปี่ยมปิติ วงศ์มีมา (เปี่ยม) นักศึกษาชั้นปีที่ 4
“การทำงานที่ต่างจากเดิม เช่น ได้มาเรียนรู้เรื่อง CI (Corporate Identity) คือต่างจากที่ทำงานให้กับทีมลูกยักษ์ (โรงเรียนปูทะเลย์มหาวิชชาลัย) ที่ไม่เคยคุมสีหรือคุมโทนมาก่อน ก็มาเรียนรู้ และทำให้พบว่าต้องเพิ่มการวางแผนที่มากขึ้น ต้องมีการผ่านการตรวจหลายรอบ ทั้งรูปแบบสื่อ คำ ต้องดูว่าเราทำสื่อให้ใคร” นางสาวสุชาดา เพ็งชนะ (ไดม่อน) นักศึกษาชั้นปีที่ 4
“มันคือการปรับตัวทั้งหมด ปรับตัวให้เป็นการเป็นงานมากขึ้น ทำสื่อก็ไม่เหมือนที่ทำลูกยักษ์ ยากขึ้น เหมือนเป็นการ Up Skill หลายด้าน อย่างการวางแผนถ้าเป็นเมื่อก่อนก็แก้ปัญหาเฉพาะหน้าไป แต่ตอนนี้ต้องวางแผนมาก่อนทำงานจริง แล้วก็ต้องเกี่ยวข้องกับคนเยอะมากๆ” นางสาวกวิสรา ทิวาเวช (ปิ๊ง) นักศึกษาพรีดีกรี
เชื่อมโยงวิชา จากตลาดคุณปู่ฯ สู่ชุดความรู้ของหลักสูตร
“วิชาที่เชื่อมโยงก็มีหลายอย่างมากๆ อย่างวิชากระบวนทัศน์การค้นหาต้นทุนชุมชน ก็นำมาใช้ในการเลือกแผงที่มาขาย แผงทุกแผงเป็นชุมชนที่รู้ที่มา จากการไปสำรวจชุมชนต่างๆ เข้าไปค้นหาเจ้าของผลิตภัณฑ์จริงๆ” เปี่ยม
“วิชาการพัฒนาผลิตภัณฑ์ บริการ และการตลาดเพื่อสังคม และวิชาตลาดดิจิตอลและการสร้างเนื้อหา เป็นสิ่งที่ตรงมากๆ ที่มาทำตลาด คือเราต้องทำสื่อเพื่อโปรโมทตลาด ต้องเรียบเรียงข้อมูลก่อนแล้วทำออกมา ตลาดเป็นที่ให้เราได้ลองทำสิ่งเหล่านี้” ไดม่อน
“บุคลิกของตลาดที่ไม่ได้หวังกำไรเกินไป ไม่ได้เบียดเบียนคนซื้อและคนขาย ฐานคิดนั้นก็น่าจะตรงกับวิชาเศรษฐกิจพอเพียงภาคปฏิบัติสำหรับชุมชน” ปิ๊ง
ด้วยการศึกษาแบบองค์รวมของสถาบันอาศรมศิลป์ ที่เริ่มจาการลงมือทำ แล้วจึงถอดองค์ความรู้ตามหลักทฤษฎี เพื่อการเรียนรู้แบบฝังลึก
“สลบและสนุก คือการมาทำตลาดเป็นการ Action มากกว่าเรียนใน Zoom คือก่อนหน้านี้น่าเบื่อมาก ที่ตลาดนี้เป็นรูปแบบที่ทำไปเลย ก็เลยจำได้และเข้าใจ แล้วพอมาถอดความรู้ก็จะจำได้มากขึ้นกว่าเดิม แล้วก็มีการเติมความรู้เป็นช่วงๆ เช่น เรียนรู้เรื่อง CI มาเติมเรื่องหลักผู้ประกอบการสังคม อาจารย์มาจูนไม่ให้หลุดออกไปดีมากเลยค่ะ” เปี่ยม
“ดีมากที่เป็นพื้นที่ให้ได้ทำจริง เจ็บจริง ดีที่ได้มีวงสะท้อนย้อนทวน ทำให้เราได้ตกตะกอนว่าเราได้เรียนรู้หรือยัง เรายังเรียนอยู่หรือเปล่า (หัวเราะ) ต้องมีวงสะท้อนค่ะ” ไดม่อน
#ตลาดคุณปู่@ระพีพิพิธ
เปิดวันจันทร์ถึงศุกร์ ตั้งแต่เวลา 7.00 – 12.00 น.
ชวนเดิน ชวนปั่น หิ้วตะกร้า พกถุงผ้า มาเที่ยวตลาด
(ที่จอดรถไม่เกิน 30 นาที บริเวณลานจอดรถของสถาบันฯ)