Holistic Learning

การเรียนรู้แบบองค์รวม (Holistic Learning) ของสถาบันอาศรมศิลป์

7 Changes : Whole School Transforming การพัฒนาโรงเรียนทั้งระบบ

ปัญหาสำคัญของการศึกษาไทยว่าเป็นปัญหาการจัดการเชิงระบบ ได้แก่ ระบบภายนอกโรงเรียนและระบบภายในโรงเรียน ซึ่งขาดความอิสระในการบริหารด้วยตนเองและขาดความเป็นเจ้าของโรงเรียนอย่างเต็มที่ โรงเรียนมีความเคยชินอยู่กับการพึ่งพาระบบใหญ่และการสั่งการทางเดียว ดังนั้น สถาบันอาศรมศิลป์ ภายใต้มูลนิธิโรงเรียนรุ่งอรุณ นำโดย รองศาสตราจารย์ประภาภัทร นิยม อธิการบดี จึงได้นำวิธีสร้างการเปลี่ยนแปลงโรงเรียนทั้งระบบ ไปสู่การพัฒนาโรงเรียนในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดระยอง จำนวน 25 โรงเรียน ในช่วงปี2561- 2562 ซึ่งมีเครื่องมือในการดำเนินงานประกอบไปด้วย ระบบภายนอกโรงเรียน คือ พรบ.พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา และมีกลไกคือ คณะกรรมการนโยบาย และคณะกรรมการขับเคลื่อนในพื้นที่ ส่วนระบบภายในโรงเรียนได้นำวิธีการสร้างการเปลี่ยนแปลงทั้งระบบโรงเรียน “Whole School Transforming: 7 Changes” เป็นครื่องมือเพื่อสร้างการสะท้อนการเรียนรู้ตนเองของทั้งผู้อำนวยการและครูในด้านต่าง ๆ ด้วยหลักคิดที่ว่า พลังสำคัญของการพัฒนาเปลี่ยนแปลงโรงเรียนทั้งระบบนั้นขึ้นอยู่กับการเปลี่ยนแปลงวิสัยทัศน์ วิธีคิด มุมมอง วัฒนธรรมการบริหารองค์กร การเรียนรู้ ของผู้อำนวยการโรงเรียนและครู โดยการเปลี่ยนแปลงทั้งระบบโรงเรียน “Whole School Transforming: 7 Changes” มีองค์ประกอบที่สำคัญ ประกอบด้วย

1) สร้างกรอบแนวคิดหลักใหม่ของโรงเรียน (School concept)
2) เปลี่ยนบทบาทผู้อำนวยการให้เป็นผู้นำทางวิชาการและเป็นผู้ชี้แนะการจัดการเรียนรู้ (Super Coach)
3) เปลี่ยนบทบาทครูจากผู้สอนให้เป็นผู้เชี่ยวชาญการจัดการเรียนรู้เพื่อศิษย์ (Learning Experts & Professional Teacher)
4) เปลี่ยนการจัดการเรียนการสอนสู่การเรียนรู้ที่มีความหมายต่อชีวิตและการเรียนแบบใฝ่เรียนรู้ (Constructive and Active learning)
5) การสร้างพื้นที่แห่งการเรียนรู้ (Learning Space) ทั้งภายในและภายนอกชั้นเรียนให้เกิดการเรียนรู้ที่หลากหลาย ยืดหยุ่นและเชื่อมโยงกับชีวิตจริง
6) เปลี่ยนหลักสูตรให้อิงฐานสมรรถนะ (Competency-Based Curriculum)
7) ใช้ระบบการวัดประเมินผลที่เน้นการปรับปรุงและพัฒนา (Formative Assessment)


ภาพ: ความสัมพันธ์ของการเปลี่ยนแปลงทั้งระบบโรงเรียน “Whole School Transforming: 7 Changes”


คลิป: พื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดระยอง กับการสร้างการเปลี่ยนแปลงทั้งระบบโรงเรียน “Whole School Transforming: 7 Changes”

ตัวอย่างการเปลี่ยนแปลง:
ผู้อำนวยการโรงเรียน และคณะครูแกนนำปรับเปลี่ยนมุมมอง เห็นภาพรวมของทั้งโรงเรียนร่วมกัน เห็นเป้าหมายหนึ่งเดียวกันของโรงเรียนในการจัดการศึกษาเพื่อผลลัพธ์คือคุณภาพผู้เรียน เห็นทิศทางใหม่ในการจัดการศึกษาแบบก้าวหน้า เช่น การเรียนรู้แบบบูรณาการอย่างเป็นองค์รวมบนฐานชีวิตจริงและคุณค่าของชุมชน เห็นความเชื่อมโยงจากการจัดการเรียนรู้ในระดับห้องเรียนไปสู่กรอบหลักสูตรท้องถิ่น Rayong MARCO ผ่านกระบวนการออกแบบหน่วยการเรียนบูรณาการ ผู้อำนวยการเริ่มตระหนักในการบริหารจัดการโรงเรียนเพื่อตอบเป้าหมายที่ชัดเจนขึ้น เกิดการแสวงหาทีมงานในโรงเรียนเพื่อร่วมขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงทั้งนี้โรงเรียนในโครงการได้จัดทำ School Concept ของแต่ละโรงเรียนออกมา เพื่อนำไปสู่การพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษา และกระบวนการเรียนรู้บนฐานสมรรถนะให้เกิดกับผู้เรียน ดังนี้

โรงเรียนอยู่เมืองแกลงวิทยา River of Life
โรงเรียนวัดสุขไพรวัน Junior Marketing
โรงเรียนวัดถนนกะเพรา Creative GLOCAL Innovator School
โรงเรียนบ้านหนองม่วง Young AI School
โรงเรียนบ้านคลองบางบ่อ Creative Cultural Tourism
โรงเรียนบ้านน้ำกร่อย Green Energy School
โรงเรียนบ้านมาบช้างนอน Natural Lab School
โรงเรียนวังจันทร์วิทยา Dynamic Ecology for Life
โรงเรียนบ้านฉางกาญจนกุลวิทยา Innovation for Life
โรงเรียนบ้านค่าย Culture Heritage Evolution
โรงเรียนมณีวรรณวิทยา Engineering by Design
โรงเรียนวัดท่าเรือ Creative Tourism and Business
โรงเรียนบ้านพยูน Marine Science School
โรงเรียนนิคมสร้างตนเอง จ.ระยอง ๘ Water of Life
โรงเรียนบ้านหมอมุ่ย Local Thai Dessert and Food Science
โรงเรียนบ้านท่าเสา Bio Economy School
โรงเรียนวัดตาขัน TK Bio-Culture and Innovation
โรงเรียนวัดบ้านเก่า Various History of Culture and Food
โรงเรียนบ้านสมานมิตร Creative Eco School

โรงเรียนบ้านหนองม่วง
“โรงเรียนบ้านหนองม่วง มีการเปลี่ยนแปลงอับดับหนึ่งก็คือ ผู้อำนวยการและครูมาร่วมกันคิดว่าจะพัฒนาเด็กให้เท่าทันโลกสมัยใหม่ที่มีการเปลี่ยนแปลงไปตามเทคโนโลยี เพื่อให้เด็กจบจากเราไปสามารถตอบโจทย์ความต้องการของชุมชนทั้งชุมชนบ้านหนองม่วง ชุมชนในอำเภอวังจันทร์จังหวัดระยอง และชุมชนโลก โดยนำหลักสูตร Rayong MACRO มาจับแล้วนำความรู้พื้นฐานเทคโนโลยีด้าน AI ด้านโค้ดดิ้ง ไบรนารี่มาแทรกเพื่อให้เด็กสามารถใช้ความรู้ในการเรียนต่อในระดับสูงขึ้นและพัฒนาสู่ระบบของวังจันทร์วัลเล่ย์ ที่ใช้บุคลากรในด้านเทคโนโลยีให้ได้มากที่สุด ดังนั้น School Concept ของโรงเรียนจึง เป็น Young AI School: นักปัญญาประดิษฐ์รุ่นเยาว์ ที่ให้เด็กสืบค้นทดลองปฏิบัติปัญหาและสร้างสรรค์ผลงานด้วยตนเอง โดยในวันศุกร์จะมีเวทีการแสดงผลงานและความสามารถซึ่งครูจะเห็นศักยภาพของเด็กไปด้วยการเปลี่ยนแปลงที่สอง คือผู้บริหารเปลี่ยนแปลงจากการบริหารงานแบบเดิม มาเป็น Super Coach หรือเป็นครูของครู โดยนำเทคโนโลยีมาใช้ในการบริหารจัดการในโรงเรียน เช่น เรื่องการ AAR (After Action Review) CRC (Classroom Reflection to Change) ผ่านระบบออนไลน์เก็บบันทึกข้อมูลในไดรฟ์ และมีการลงเวลาปฏิบัติงานผ่านระบบอินเทอร์เน็ตต่างๆ”

ผอ.เรไร สารราษฎร์ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านหนองม่วง,
สัมภาษณ์, 31 สิงหาคม 2562

สามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่: พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา Education Sandbox. (๒๕๖๓). บริหารจัดการโรงเรียนชั้นเรียนใหม่แก้ปัญหาโรงเรียนเล็ก เด็กน้อยด้วยการเรียนชั้นคละและการจัดกลุ่มผู้เรียนตามความสามารถ. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: https://www.edusandbox.com/bannongmuang-rayong/ (วันที่ค้นข้อมูล: ๒๐ มกราคม ๒๕๖๓)

โรงเรียนนิคมสร้างตนเองจังหวัดระยอง 8
“โรงเรียนนิคมสร้างตนเอง 8 Concept School NK8 : Water of life เนื่องด้วยภูมิศาสตร์ของโรงเรียนเราอยู่ท่ามกลางอ่างดอกกลาย อ่างคลองใหญ่ อ่างหนองปลาไหล ซึ่งทั้ง ๓ อ่าง เป็นเส้นเลือดใหญ่ของคนในชุมชนปลวกแดง เป็นที่ทำมาหากิน และอนุรักษ์ไว้เพื่อสืบทอดและต่อยอดให้ลูกหลานแม่น้ำคู้ ปลวกแดงได้ทำมาหากินตลอดไป”
ครูคัคนันท์, ครูภาษาไทยและครูวิชาการโรงเรียนนิคมสร้างตนเองจังหวัดระยอง 8,
สัมภาษณ์, 31 สิงหาคม 2562

โรงเรียนบ้านสมานมิตร
โรงเรียนบ้านสมานมิตรได้ความร่วมมือจากชุมชนในการจัดการศึกษากับโรงเรียนในทุกด้าน และได้ขอความเห็นชอบจากชุมชนเพื่อเข้าร่วมเป็นโรงเรียนนำร่องพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา โดยใช้สิ่งแวดล้อมเป็นฐานในการขับเคลื่อนSchool Concept “โรงเรียนสมานมิตรสร้างสรรค์เชิงนิเวศ (Samanmit Creative Eco-School)” สร้างเด็กรักษ์สิ่งแวดล้อม รวมทั้งมีการพัฒนาคุณภาพการบริหารและการจัดการศึกษาด้วย “SAMANMIT MODEL” ซึ่งยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง ทำแผนปฏิบัติการ การพัฒนาภาคีเครือข่ายและใช้ชุมชนเป็นฐานในการสร้างความยั่งยืนในการพัฒนา รวมทั้งจัดชั้นเรียนแบบคละชั้น ภาคเช้าเรียนรายวิชาหลัก ๔ วิชาแบบบูรณาการ ภาคบ่ายบูรณาการ Eco-School (บูรณาการหลักสูตร Rayong Macro และหลักสูตรยุวสาสมาธิของสถาบันพลังจิตตานุภาพ)ใช้พื้นที่ทุกส่วนที่มีจำกัดให้เป็นประโยชน์ต่อการเรียนรู้ของผู้เรียน (learning space)อยู่ระหว่างปรับเปลี่ยนใช้วิธีประเมินผู้เรียนด้วยการประเมินฐานสมรรถนะ ๕ ด้าน เพื่อความเป็น SMART KIDS

อ้างอิง:
พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา Education Sandbox. (๒๕๖๓)
โรงเรียนบ้านสมานมิตร พื้นที่นวัตกรรมระยองบูรณาการหลักสูตรสิ่งแวดล้อม&สมาธิ ชุมชนเสริมทัพ
[ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก :https://www.edusandbox.com/samanmit-school-concept/
(วันที่ค้นข้อมูล: ๒๐ มกราคม ๒๕๖๓)


โรงเรียนบ้านคลองบางบ่อ
โรงเรียนบ้านคลองบางบ่อเป็นโรงเรียนที่ตั้งอยู่ในพื้นที่บ้านคลองบางบ่อ ตำบลพลงตาเอี่ยม อำเภอวังจันทร์ จังหวัดระยอง มีข้าราชการครู ๕ คน ผู้อำนวยการ ๑ คน จำนวนนักเรียนรวม ๑๐๐ คน เปิดการเรียนในระดับอนุบาล-ระดับประถมศึกษาปีที่ ๖ เนื่องจากโรงเรียนออกแบบวิธีการบริหารจัดการชั้นเรียนเป็น ๔ กรุ๊ป โดยการจัดการเรียนรู้แบบชั้นคละอายุ ประกอบด้วย ระดับปฐมวัย อ.๒-อ.๓ และ กรุ๊ป A ป.๑-๒ / กรุ๊ป B ป.๓-๔ / กรุ๊ป C ป.๕-๖ โรงเรียนอยู่ท่ามกลางชุมชนในบริบทพหุวัฒนธรรม มีประชาชากร ๔,๔๒๔ คน นับถือ ศาสนาพุทธและอิสลาม มีการแสดงออกทางความเชื่อ ภาษา การแต่งกาย วิถีชีวิตความเป็นอยู่ที่แตกต่างกัน นักเรียนในโรงเรียน มาจากครอบครัว ที่มีวัฒนธรรมแตกต่างกัน แต่ต้องใช้วิถีชีวิตในโรงเรียนร่วมกัน ในการเรียนรู้ การรับประทานอาหาร การเข้าร่วม กิจกรรม การปฏิบัติภารกิจทางศาสนาร่วมกัน ประกอบกับเป็นความต้องการของชุมชนในเรื่องอนุรักษ์วัฒนธรรมที่ดีงามของท้องถิ่น ซึ่งการจัดการศึกษาของโรงเรียนบ้านคลองบางบ่อจำเป็นต้องคำนึงถึงวัฒนธรรม ของนักเรียนแต่ละคน เพื่อเคารพสิทธิมนุษยชน (Human Rights) ของนักเรียนสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา และการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขของสังคมในโรง เรียนและชุมชน(แผนพัฒนาโรงเรียนบ้านคลองบางบ่อ, ๒๕๖๒, ๑) การศึกษาพหุวัฒนธรรม (Multicultural Education) เป็นกระบวนการให้การศึกษาระดับขั้นพื้นฐาน ที่สถานศึกษาจะต้องช่วยให้เด็ก เยาวชน ประชาชนเข้าใจ ไม่รังเกียจ และยอมรับ ซึ่งความแตกต่างในเรื่องของความเป็นชนกลุ่มน้อย ด้านเชื้อชาติ ภาษา ศาสนา ลัทธิความเชื่อ ความเป็นอยู่ เพศ (โดยเฉพาะสตรีในบางประเทศ) ที่อาจจะไม่ได้รับความเท่าเทียมกัน ในบางเรื่อง ทั้งนี้ ผู้บริหารสถานศึกษา ครู อาจารย์ผู้ปกครอง และชุมชน ต้องหาวิธีการให้เด็ก เยาวชน ประชาชนทั่วไป เข้าใจ และซึมซับ ยอมรับความแตกต่างดังกล่าว และอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข (แผนพัฒนาโรงเรียนบ้านคลองบางบ่อ, ๒๕๖๒, ๑) จากการศึกษาทบทวนข้อมูลเชื่อมโยงกับบริบทผู้อำนวยการโรงเรียนได้พัฒนาเป้าหมายใหม่ของโรงเรียนเป็นผลงานวิจัย เรื่องการเรียนรู้สู่การสร้าง School Concept ของผู้บริหารสถานศึกษากรณีศึกษาโรงเรียนบ้านคลองบางบ่อ : โรงเรียนพหุวัฒนธรรม (Learning to Create a School Concept for School Administrators A case study of Ban Klong Bang Bor School : Multicultural School) โดยกำหนดวัตถุประสงค์เพื่อศึกษากระบวนเรียนรู้ของผู้บริหารสถานศึกษาในการสร้าง School Concept โดยมีองค์ประกอบหลักที่สำคัญ ๒ ประการคือ ๑. การสร้างความเข้าใจที่ชัดเจนในเรื่องเป้าหมายของสถานศึกษาและ ๒. การทำให้บุคลากรหรือผู้ใต้บังคับบัญชามีความรู้สึกเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในการทำงาน นั้น ทำให้เห็นกระบวนการเรียนรู้ของผู้บริหารสถานศึกษา ที่จะนำไปสู่การสร้าง School Concept ได้ ซึ่งการเรียนรู้ครั้งนี้จะนำไปสู่การได้มาของชุดความรู้ ในการสร้าง School Concept มีกระบวนการทั้งหมด ๖ ขั้นตอน ดังนี้คือ

๑. ปรับความเชื่อของตนเอง ผู้บริหารมีความปรารถนาที่จะเห็นโรงเรียนเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดี และทำทุกวิถีทางให้โรงเรียนมีคุณภาพและได้รับการยอมรับ ในการเข้าร่วมโครงการ ผอ.กล้าเปลี่ยน ทำให้ผู้บริหารปรับความเชื่อของตนเองและค้นพบแนวทางในการพัฒนา ส่งผลให้เกิดแรงบันดาลใจในการที่จะมุ่งมั่นพัฒนาโรงเรียนให้ดียิ่งขึ้น สอดคล้องกับ ปัจจัยหลัก (Core Elements)

๒. หาข้อมูลสังคมรอบ ๆ โรงเรียน โรงเรียนได้พยายามค้นหาตนเองจนนำไปสู่การค้นพบ ด้วยการลองผิดลองถูก และการเรียนรู้ไปกับคำแนะนำและการหาข้อมูลในสังคมรอบ ๆ โรงเรียน มีการทบทวน ไตร่ตรอง แลกเปลี่ยนเรียนรู้ เพื่อหาตัวตนหรือจุดแข็งของโรงเรียน ส่งผลให้โรงเรียนค้นพบ School Concept ที่เกิดจากการลองผิดลองถูก นั่นก็คือ โรงเรียนพหุวัฒนธรรมสร้างสรรค์ (Creative Multicultural School) สอดคล้องกับ ปัจจัยหลัก (Core Elements)

๓. พูดคุยกับครูในโรงเรียน ค้นหาแนวคิดในการวางแผนการทำงาน ผู้บริหารเป็นบุคคลที่ใฝ่รู้ ใช้วิธีการบริหารแบบมีส่วนร่วม มีการสนทนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและมีการกำหนดแนวทางร่วมกัน ส่งผลให้โรงเรียนมีแนวทางในการพัฒนาที่เกิดจากความร่วมมือร่วมใจของสมาชิกในโรงเรียน ทุกคนรับรู้ร่วมกันและเกิดความมั่นใจในการพัฒนาโรงเรียน สอดคล้องกับปัจจัยหลัก (Core Elements)

๔. สนทนากับผู้รู้ และสืบค้นข้อมูลทางอินเทอร์เน็ต เพื่อค้นหาความเป็นไปได้ ผู้บริหารให้ความสำคัญกับคนทุกลุ่ม เน้นการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน ร่วมสร้างเครือข่ายและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน ค้นคว้าหาความรู้ด้วยตนเองโดยใช้เทคโนโลยี ส่งผลให้ผู้บริหารและสมาชิกในโรงเรียนเกิดความมั่นใจในแนวทางการพัฒนามากยิ่งขึ้น ว่ามีความเป็นไปได้ สอดคล้องกับ ปัจจัยหลัก (Core Elements)

๕. สร้างมุมมองทางวิชาการ กำหนดเป้าหมาย ๕ ด้าน โดยคำนึงถึงบริบทของโรงเรียน ผู้บริหารคำนึงถึงบริบทของสังคม จึงเชื่อมโยงบริบททางสังคมสู่การกำหนดเป้าหมายของโรงเรียนอย่างชัดเจนใน ๕ ด้าน ส่งผลให้ โรงเรียนมีเป้าหมายที่มีความชัดเจน สอดรับกับบริบทและความต้องการของสังคม ซึ่งสอดคล้องกับ ปัจจัยหลัก (Core Elements)

๖. แสดงพฤติกรรมที่ชัดเจนในการบรรลุเป้าหมายของ School Concept และใช้ความพยายามอย่างสุดความสามารถในการออกแบบหลักสูตร ผู้บริหารใช้ความพยายามอย่างจริงจัง ที่จะเชื่อมโยง School Concept นำไปสู่การกำหนดหลักสูตรสถานศึกษาร่วมกัน ส่งผลให้ โรงเรียนมีหลักสูตรสถานศึกษา ที่มีความสอดคล้องกับบริบทของโรงเรียน ได้รับการยอมรับและพร้อมที่จะนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อผู้เรียน ผ่านการจัดการเรียนรู้และการบริหารจัดการที่เป็นไปตามหลักสูตร เกิดประโยชน์ร่วมกันในทางปฏิบัติ สอดคล้องกับ ปัจจัยหลัก (Core Elements)

อ้างอิง:
ผลงานวิจัยเรื่อง การเรียนรู้สู่การสร้าง School Concept ของผู้บริหารสถานศึกษากรณีศึกษาโรงเรียนบ้านคลองบางบ่อ : โรงเรียนพหุวัฒนธรรม Learning to Create a School Concept for School Administrators A case study of Ban Klong Bang Bor School: Multicultural School

นพรัตน์ สวัสดี ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านคลองบางบ่อ
สถาบันอาศรมศิลป์. (๒๕๖๒). (ออนไลน์) รวมบทความการประชุมวิชาการประจำปี
ระพีเสวนา ครั้งที่ ๑๐ : การเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลง Transformative Learning
ISBN (e-Book) 978-616-7923-15-4 https://cutt.ly/1rxv3Ha สืบค้นเมื่อวันที่ ๒๖ มกราคม ๒๕๖๓

โรงเรียนบ้านน้ำกร่อย
โรงเรียนบ้านน้ำกร่อยเป็นโรงเรียนที่ตั้งอยู่ในพื้นที่บ้านน้ำกร่อย ตำบลห้วยทับมอญ อำเภอเขาชะเมา จังหวัดระยอง มีข้าราชการครู ๘ คน ผู้อำนวยการ ๑ คน จำนวนนักเรียนรวม ๑๐๑ คน เปิดการเรียนในระดับอนุบาล-ระดับประถมศึกษาปีที่ ๖ มีสภาพบริบทเป็นป่าเขา ธรรมชาติ แหล่งอาหารช้าง ปัญหา คือ ขาดสมดุล ไม่มีอาหาร ช้างป่าเข้าหมู่บ้านทำความเสียหาย การแก้ปัญหา โดยการสร้างแหล่งอาหารช้างใหม่ เปลี่ยนเส้นทางเดินของช้าง สร้างสะพานยกระดับ ลดอุบัติเหตุรถชนช้างและช้างชนรถ โอกาส เป็นสถานที่ท่องเที่ยว โฮมสเตย์ แหล่งอาชีพใหม่ โรงเรียนเป็นศูนย์กลางชุมชน และมีค่าไฟฟ้าแพง ด้วยเหตุผลดังกล่าวจึงต้องการใช้พลังงานสะอาด เพื่อรักษาสมดุลธรรมชาติ ซึ่งการจัดการศึกษาของโรงเรียนบ้านน้ำกร่อยต้องคำนึงถึงการเรียนรู้อย่างมีความหมาย บนพื้นฐานชีวิตประจำวัน เป้าหมาย คือ นักเรียนมีความตระหนักรู้ในคุณค่า และมีความรอบรู้เรื่องพลังงานสะอาดและสมดุลธรรมชาติ และมีทักษะในศตวรรษที่ ๒๑ จากต้นทุนดังกล่าวของบริบทโรงเรียนนั้นกระบวนการจัดทำหลักสูตรที่ดีจะทำให้ได้หลักสูตรที่สอดคล้องกับความต้องการพัฒนาคนของประเทศ สังคมรอบโรงเรียน วิถีชีวิตของนักเรียน รวมทั้งสร้างการยอมรับและส่งเสริมกการเรียนรู้ของครูผู้สอนให้ตระหนักเห็นคุณค่า เกิดความเป็นเจ้าของ และมีความเชื่อมั่นในการนำไปใช้ เนื่องจากเดิมครูผู้สอนเป็นเพียงผู้ใช้หลักสูตร จัดการเรียนรู้โดยยึดหนังสือเรียนเป็นหลักในฐานะผู้อำนวยการโรงเรียนมองเห็นความจำเป็นดังกล่าว จึงมีแนวคิดที่จะพัฒนากระบวนการจัดทำหลักสูตรสถานศึกษาที่ส่งผลต่อการยอมรับของครูผู้สอนและเป็นการกำหนดเป้าหมายใหม่ผ่านงานวิจัยเรื่อง กระบวนการจัดทำหลักสูตรสถานศึกษาที่ส่งผลต่อการยอมรับของครูผู้สอน : กรณีศึกษาโรงเรียนบ้านน้ำกร่อย (The Process of Creating a School Curriculum Affecting the Teachers’ Acceptance: A Case Study of Ban Namgroi School) โดยมีวัตถุประสงค์ของการวิจัย ๑. เพื่อศึกษากระบวนการจัดทำหลักสูตรสถานศึกษา โรงเรียนบ้านน้ำกร่อย ปีการศึกษา ๒๕๖๓ และ ๒. เพื่อศึกษาเหตุผลในการยอมรับหลักสูตรสถานศึกษาของครูโรงเรียนบ้านน้ำกร่อย ผลของกระบวนการจัดทำหลักสูตรสถานศึกษา โรงเรียนบ้านน้ำกร่อย ปีการศึกษา ๒๕๖๓ มี ๗ ขั้นตอนประกอบด้วย ๑) การศึกษา School Concept และเป้าหมายของโรงเรียน ๒) การจัดกลุ่มตัวชี้วัดหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช ๒๕๕๑ (ฉบับปรับปรุง พุทธศักราช ๒๕๖๐) ๓) การบูรณาการเป้าหมายของรายวิชาในหลักสูตรแกนกลางกับความต้องการของนักเรียนกับบริบทพื้นที่แล้วเปลี่ยนชื่อรายวิชาใหม่ ๔) การร่วมมือกับครูเขียนแผนภาพเพื่อสื่อสารให้ครูและผู้ที่เกี่ยวข้องเข้าใจแนวคิด กิจกรรม ภาคีเครือข่ายการจัดกิจกรรมของรายวิชาต่าง ๆ ๕) การส่งเสริมให้ครูรับฟังความคิดเห็นจากนักเรียน ผู้ปกครอง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ๖) การค้นหาภาคีเครือข่าย แหล่งเรียนรู้ ภูมิปัญญาท้องถิ่นในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ ๗) ร่วมกับครูจัดทำรูปเล่มหลักสูตรสถานศึกษาฉบับใหม่เพื่อเสนอความเห็นชอบต่อคณะกรรมการต่างๆ ซึ่งกระบวนการ ๗ ขั้นตอนดังกล่าว ทำให้ผู้บริหารโรงเรียนเกิดการเรียนรู้และเป็นการส่งเสริมให้ครูเกิดการเรียนรู้เกิดการเปลี่ยนแปลง และยอมรับเกิดเป้าหมายใหม่ของโรงเรียน

อ้างอิง:
ผลงานวิจัยเรื่อง กระบวนการจัดทำหลักสูตรสถานศึกษาที่ส่งผลต่อการยอมรับของครูผู้สอน : กรณีศึกษาโรงเรียนบ้านน้ำกร่อย (The Process of Creating a School Curriculum Affecting the Teachers’ Acceptance: A Case Study of Ban Namgroi School)
อิงกมล บุญลือ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านน้ำกร่อย
สถาบันอาศรมศิลป์. (๒๕๖๒. (ออนไลน์) รวมบทความการประชุมวิชาการประจำปี
ระพีเสวนา ครั้งที่ ๑๐ : การเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลง Transformative Learning
ISBN (e-Book) 978-616-7923-15-4 https://cutt.ly/1rxv3Ha สืบค้นเมื่อวันที่ ๒๖ มกราคม ๒๕๖๓

CRC (Classroom Reflection to Change) การสะท้อนห้องเรียนสู่การเปลี่ยนแปลง

CRC (Classroom Reflection to Change)
การสะท้อนห้องเรียนสู่การเปลี่ยนแปลง

“จุดแตกหักของการพัฒนาคุณภาพการศึกษานั้นอยู่ที่ห้องเรียน”

เมื่อการพัฒนาคุณภาพการศึกษาของชาติ ขึ้นอยู่กับคุณภาพการสอนของครูสู่การพัฒนาคุณภาพผู้เรียน ดังนั้น รองศาสตราจารย์ประภาภัทร นิยม อธิการบดีสถาบันอาศรมศิลป์ ภายใต้มูลนิธิโรงเรียนรุ่งอรุณ จึงได้พัฒนากระบวนการ การสะท้อนห้องเรียนสู่การเปลี่ยนแปลง หรือ CRC (Classroom Reflection to Change) หรือการนิเทศแบบเจาะลึกเพื่อพัฒนาคุณภาพชั้นเรียนขึ้น โดยเริ่มต้นใช้กับโรงเรียนรุ่งอรุณมาเป็นเวลานาน แล้วนำไปขยายผลใช้เป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาโรงเรียนทั้งระบบ “Whole School Transforming : 7 Change” ให้กับ 30 โรงเรียนในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดระยองและศรีสะเกษ ในระหว่างปี พ.ศ. 2561-2562 โดยมีกระบวนการที่สำคัญ คือ การให้ผู้นิเทศการสอนนำการถ่ายคลิปวิดิโอมาเป็นเครื่องมือช่วยสะท้อนผลหลังการปฏิบัติการสอน (AAR: After Action Review) ของครู เพื่อให้ครูได้ตรวจสอบคุณภาพการสอนของตนเองผ่านการเห็นภาพสะท้อนการสอนเชิงประจักษ์ ตั้งแต่ขั้นนำ ขั้นกระบวนการ และขั้นสรุปของการจัดกระบวนการเรียนรู้ ที่มีประเด็น ประกอบด้วย กระบวนการจัดการเรียนรู้ของครูผู้สอน ปฏิสัมพันธ์ระหว่างครูกับนักเรียน อาการการเรียนรู้ของนักเรียน องค์ประกอบแวดล้อมของการจัดการเรียนรู้ เพื่อนำข้อมูลเหล่านั้นมาสู่การพัฒนาคุณภาพการสอนร่วมกัน ผ่านวงสนทนาชุมชนนักปฏิบัติเชิงวิชาชีพ (PLC) ที่มีความเป็นกัลยาณมิตรและการใช้สุนทรียสนทนา (Dialogue) ระหว่างเพื่อนครูและผู้อำนวยการโรงเรียนที่ทำหน้าที่ผู้นำทางวิชาการและผู้อำนวยการส่งเสริมการจัดการเรียนรู้ (facilitator)หรือการเป็นครูของครู (Super Coach) เพื่อให้วงสนทนาเห็นจุดร่วมที่ควรพัฒนาการเรียนรู้ของเด็กไปพร้อมกัน
Classroom Reflection to Change
คลิป : กระบวนการ Classroom Reflections to Change
https://youtu.be/RE3VppL16gA

ตัวอย่างการเปลี่ยนแปลง:
โรงเรียนบ้านมาบช้างหนอน
ตั้งแต่ครั้งแรกที่ครูกวางได้เข้าร่วมโครงการในกระบวนการ CRC ในช่วงเดือนพฤศจิกายน ๒๕๖๑ ต่อเนื่องมาจนถึงช่วงการอบรมวิธีการสอนแบบใฝ่รู้ (Active Learning) ของโครงการในช่วงเดือนมิถุนายน ๒๕๖๒ คุณครูจะใส่ใจติดตามและร่วมกระบวนการอย่างตั้งใจวิธีการออกแบบแผนการสอน และกระบวนการทดลองสอนจริงในชั้นเรียนโรงเรียนรุ่งอรุณ คุณครูจะคอยสอบถามรายละเอียดวิธีการในการสอนจากวิทยาการ ขอดูแบบอย่างผลงานและแบบเรียนที่สะท้อนผลสัมฤทธิ์การเรียนรู้ของผู้เรียนในช่วงการจัดอบรมอย่างต่อเนื่อง แล้วนำไปปรับใช้ในการออกแบบแผนการจัดการเรียนรู้ของตนเอง ในช่วงการติดตามประเมินผลโรงเรียนเดือนกรกฎาคม ๒๕๖๒ คณะผู้วิจัยได้เข้าสังเกตการสอนวิชาภาษาอังกฤษ ชั้นคละระดับประถมปลายของครูกวาง พบว่าคุณครูได้มีการปรับกระบวนการเรียนรู้ให้นักเรียนได้ลงมือปฏิบัติ และสร้างกระบวนการเรียนรู้อย่างมีส่วนร่วมของนักเรียนโดยจัดลำดับขั้นนำที่สร้างความสนใจในการเรียนรู้คำศัพท์ส่วนประกอบร่างกายจากเพลง เชื่อมโยงสู่ขั้นสอนที่นักเรียนต้องค้นหาความหมายของคำศัพท์ร่วมกันเป็นกลุ่มสู่การนำเสนอความรู้ร่วมกัน และมีขั้นพาเด็กสรุปการเรียนรู้ในช่วงสุดท้ายว่าได้เรียนรู้อะไรจากชั่วโมงเรียนที่ผ่านมา กระบวนการเรียนรู้ของครูกวางทำให้เด็กมีความกระตือรือร้นในการเรียนรู้ และช่วยเหลือกันทำงานเป็นทีมและได้รู้ความหมาย คำศัพท์และการสนทนาภาษาอังกฤษไปพร้อมกัน ครูมีท่าทีกระตือรือร้นและมีความสุขในการจัดการเรียนรู้มีการจัดเตรียมสื่อในการสอนด้วยตนเองในทุกขั้นตอน ดังที่ครูสะท้อนถึงความสำคัญในการจัดการเรียนแบบใฝ่รู้ว่า “ในการจัดการเรียนการสอนให้เด็กใฝ่เรียนรู้ (Active) ก็ทำให้เราซึ่งเป็นครูใฝ่เรียนรู้ (Active) ไปด้วย ทำให้คอยนึกถึงเด็กว่าเวลาเขาอยู่ในห้องเขาอยากเรียนรู้อะไร ถ้าเขาได้มีกิจกรรมหรือมีส่วนร่วม เขาก็จะสนุกเกิดการเรียนรู้และจำได้ จากกระบวนการ CRC ได้ช่วยให้เห็นตัวเองว่าอะไรเป็นจุดดี อะไรเป็นสิ่งที่ควรพัฒนา เพราะเวลาสอนก็มองข้ามตัวเองไป แล้วก็นำข้อแนะนำสิ่งที่ได้เรียนรู้มาพัฒนาตัวเองต่อไป”
ครูณัชปภา เรืองศรี ครูระดับชั้นประถมศึกษา โรงเรียนมาบช้างนอน, สัมภาษณ์, กรกฎาคม ๒๕๖๒

โรงเรียนบ้านค่าย
คุณครูกาญจนา พิจารย์ ครูสอนภาษาไทยในระดับมัธยมศึกษาโรงเรียนบ้านค่าย ในวันที่ได้เข้าไปสังเกตการณ์การสอนครูสอนในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๖ พบว่าครูมีความตั้งใจสอนมาก พยายามส่งเสียงอันดังฟังชัดให้ลูกศิษย์ได้เรียนรู้หลักไวยากรณ์ภาษาเรื่อง คำมูล คำประสม คำซ้อน คำซ้ำ การเรียนการสอนเน้นไปที่การจำคำมาพูดบอกเป็นคำ ๆ แล้วครูเขียนขึ้นบนกระดาน แล้วก็ให้เด็กทำแบบทดสอบเป็นหลัก จะมีการทบทวนความเข้าใจก็ด้วยวิธีการให้เด็กอ่านโจทย์คำถามพร้อมกันทั้งห้อง แล้วมาเลือกคำตอบที่ถูกต้องร่วมกัน ท่าทีของเด็กนั่งเรียนที่โต๊ะเพื่อมุ่งทำงานให้เสร็จ ครูถามก็ตอบ ขาดชีวิตชีวาและความกระตือรือร้นในการเรียนรู้แต่ว่าต้องรับผิดชอบทำงานที่ได้รับมอบหมาย ส่วนครูบอกว่าครูมุ่งเน้นให้เด็กจำได้และสามารถทำข้อสอบตามเนื้อหาและมาตรฐานตัวชี้วัดในหลักสูตรและการทดสอบระดับชาติได้ รวมทั้งครูมีความคิดว่าเด็กจะเรียนรู้ได้เมื่อครูบอกความรู้ให้และมุ่งท่องความรู้ที่ครูให้เท่านั้น แต่จากกระบวนการสะท้อนชั้นเรียนสู่การเปลี่ยนแปลง (CRC: Classroom Reflection to Change) ในช่วงเดือน มิถุนายน ๒๕๖๒ เมื่อครูได้รับข้อแนะนำวิธีปรับการสอนที่ให้เชื่อมั่นในความสามารถของเด็ก ครูต้องเชื่อว่าเด็กเรียนรู้ได้ และครูควรจัดบรรยากาศและวิธีการเรียนรู้ที่สามารถทำให้เด็กเห็นถึงความงามและคุณค่าของการใช้ภาษาอย่างมีความหมาย จึงทำให้ครูนำไปปรับปรุงการสอนของตนเอง จนเมื่อปลายเดือนสิงหาคม ที่ผ่านมา คุณครูกาญจนาได้สะท้อนผลจากการเปลี่ยนแปลงวิธีการสอนแบบใหม่ และเปลี่ยนวิธีคิด เปลี่ยนหัวใจของตนเองมาสู่ความเชื่อมั่นในตัวเด็กว่าเด็กสามารถทำได้ โดยการเปิดอิสระให้เด็กเขียนบทประพันธ์กาพย์ฉบัง ๑๖ ด้วยการให้ใช้ภาษาเขียนถ่ายทอดความรู้สึกจากใจของตนเองออกมา ดังคำกล่าวที่สะท้อนถึงความรู้สึกนึกคิดของครูที่กล่าวว่า

“เมื่อก่อนมีความคิดว่าเด็กจะเรียนรู้ได้เมื่อครูบอกความรู้ให้ การสอนจึงมุ่งให้เด็กท่องความรู้และทำข้อสอบที่ครูเตรียมให้เป็นหลัก แต่จากกระบวนการสะท้อนชั้นเรียนสู่การเปลี่ยนแปลง (CRC: classroom reflection to change)ในช่วงเดือน มิ.ย.๖๒ ทำให้ต้องเปลี่ยนวิธีคิด เปลี่ยนแปลงวิธีการสอน และเปลี่ยนหัวใจของตนเองใหม่ มาสู่ความเชื่อมั่นในตัวเด็กว่าเด็กสามารถทำได้ โดยการเปิดอิสระให้เด็กเขียนบทประพันธ์กาพย์ฉบัง๑๖ ด้วยการให้ใช้ภาษาเขียนถ่ายทอดความรู้สึกจากใจของตนเองออกมา ผลที่เกิดขึ้นรู้สึกดีใจและภูมิใจมาก จากที่ไม่เคยเชื่อไม่เคยคิดว่าเด็กจะสามารถทำได้ แต่เด็กกลับทำให้เห็นว่าพวกเขาสามารถแต่งกาพย์ฉบัง๑๖ ได้อย่างรวดเร็วเสร็จได้ภายในชั่วโมงเรียน เด็กบางคนสะท้อนความอึดอัดใจจากการทำการบ้าน เด็กบางคนเขียนเปรียบเทียบการให้การบ้านของประเทศไทยกับประเทศฟินแลนด์ มันสะท้อนให้เห็นว่าผลที่เกิดขึ้นกับเด็กนั้น สามารถตอบตัวชี้วัดได้ทุกคำตอบในวิชาภาษาไทย เเละชี้วัดเราด้วยว่าเราทำได้ไหม”

กาญจนา พิจารย์. ครูวิชาภาษาไทย โรงเรียนบ้านค่าย.
สัมภาษณ์, ๑๐ ตุลาคม ๒๕๖๒.

Super Coach ผอ.กล้าเปลี่ยน สู่การเป็นครูของครู

Super Coach
ผอ.กล้าเปลี่ยน สู่ การเป็นครูของครู

การหนุนเสริมให้ผู้อำนวยการโรงเรียนเสริมมีบทบาทสำคัญในการเป็น “ครูของครู (Super Coach)” ที่มีความรู้ความเข้าใจและมีสายตามองเห็นความสำเร็จหรือปัญหาในการจัดการเรียนรู้ของครูในชั้นเรียน เพื่อหาแนวทางยกระดับและส่งเสริมวิถีการเรียนรู้ของครูและศิษย์ ให้เข้าถึงการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ด้วยกระบวนการเรียนรู้ที่หลากหลาย เช่น การเปลี่ยนวิสัยทัศน์ผู้อำนวยการโรงเรียน การพาผู้อำนวยโรงเรียนและครูรู้จักสนามรบที่แท้จริงของตนเอง นั่นก็คือ ห้องเรียน โรงเรียนด้วยกระบวนการ School Visit และกระบวนการสะท้อนชั้นเรียนสู่การเปลี่ยนแปลง Classroom Reflection to Change หรือ CRC การสร้างโรงเรียนให้เป็นองค์กรทางการศึกษาแบบมืออาชีพ การสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้อำนวยการโรงเรียนและครูเห็นวิธีการจัดการเรียนรู้ที่ส่งเสริมให้ผู้เรียนเป็นเจ้าของการเรียนรู้ (Learner person) ด้วยตนเอง การจัดการเรียนแบบเรียนรู้แบบใฝ่รู้ให้เข้าถึงระบบคุณค่า (Active Learning & Value Curriculum) ของโรงเรียนรุ่งอรุณ เพื่อเป็นแนวทางในการจัดการเรียนรู้โดยมีเด็กเป็นตัวตั้ง กระบวนการพาผู้อำนวยการโรงเรียนค้นพบถูกท้าทายที่แท้จริงในจิตใจตนเองเพื่อที่จะตื่นรู้กล้าเผชิญสถานการณ์ฉุกเฉินที่ไม่ได้เตรียมตัวตั้งรับได้อย่างชาญฉลาด และเข้าถึงศักยภาพภาวะผู้นำของตนเอง ทั้งจากการเข้าไปเรียนรู้เชื่อมโยงกับชุมชน เพื่อค้นหาคุณค่าความดีในใจของคนที่ไม่ได้ติดอยู่เพียงรูปทรัพย์ภายนอก การเล่นเรือใบท้าทายลมพายุ ที่มีเพียงสติและปัญญาของตนเองเท่านั้นที่จะก้าวข้ามอุปสรรคและความกลัวออกมาได้ กระบวนการพาผู้อำนวยการโรงเรียนรู้จักสนามรบที่แท้จริงในการพัฒนาคุณภาพคนของชาตินั่นคือห้องเรียน จากการร่วมกันสังเกตการจัดการเรียนรู้ของครูเพื่อนำไปสะท้อนผลและแลกเปลี่ยนเรียนรู้สู่การพัฒนาคุณภาพการสอนและคุณภาพของผู้เรียนร่วมกัน ผ่านวงสนทนาชุมชนนักปฏิบัติเชิงวิชาชีพ (PLC) ที่มีความเป็นกัลยาณมิตรและยึดเป้าหมายการพัฒนาคุณภาพของผู้เรียนเป็นสำคัญร่วมกัน

กระบวนการเหล่านี้ เป็นการพัฒนาผู้บริหารและครูอย่างเป็นองค์รวมโดยสถาบันอาศรมศิลป์ โดยการนำของรองศาสตราจารย์ประภาภัทร นิยม อธิการบดี ผู้มีความมุ่งมั่นในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาของชาติ ซึ่งได้ขยายผลกระบวนการเหล่านี้ให้กับหลากหลายโรงเรียนทั่วประเทศ ไม่ว่าจะเป็น กลุ่มโรงเรียนประชารัฐ ภายใต้การดูแลของบริษัท ไทยยูเนี่ยนกรุ๊ป จำกัด จำนวน 5 โรงเรียน กลุ่มโรงเรียนร่วมพัฒนา (Partnership School) โดยคุณมีชัย วีระไวทยะ และศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.เทียนฉาย กีระนันท์ ขับเคลื่อนร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ โรงเรียนมีชัยพัฒนา และโรงเรียนในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดระยองอีกจำนวน 25 โรงเรียน เป็นต้น

 

Super Coach ผอ.กล้าเปลี่ยน สู่ การเป็นครูของครู
คลิป : เพิ่มพลังวิสัยทัศน์ ผอ.สู่การเป็นครูของครู Super Coach กลุ่มโรงเรียนประชารัฐ

ตัวอย่างการเปลี่ยนแปลง:
โรงเรียนหนองม่วง
โรงเรียนหนองม่วงเป็นโรงเรียนขนาดเล็ก เปิดสอนระดับชั้นอนุบาล-ประถมศึกษาปีที่ ๖ จำนวน ๙ ห้องเรียน มีนักเรียน ๑๑๕ คน (ชั้นอนุบาล ๑-๓ จำนวน ๔๖ คน ชั้นประถมศึกษา จำนวน ๖๙ คน) และมีครูและบุคลากรทางการศึกษา จำนวน ๑๑ คน (ครู ๗ คน, อัตราจ้าง ๑ คน, พี่เลี้ยง ๑ คน, ธุรการ ๑ คน, ผู้อำนวยการ ๑ คน) โรงเรียนพบปัญหามีครูไม่ครบชั้น ครูมีภาระงานจำนวนมากทั้งงานธุรการและการอบรมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและมีกิจกรรมต่าง ๆ ภายนอก ที่ต้องดำเนินการ ประสาน เข้าร่วมประชุมเสมอ ๆ เมื่อครูมีกิจกรรมที่ต้องออกไปนอกห้องเรียน/นอกโรงเรียน การจัดการเรียนรู้จึงไม่เกิดความต่อเนื่อง ทำได้เพียงพยุงชั้นเรียนให้ผ่านพ้นไป
ทางโรงเรียนจึงได้แก้ปัญหาโดยได้รับความเห็นชอบจากผู้ปกครองและชุมชน จัดปรับห้องเรียนระดับประถม เรียงระดับความรู้ความสามารถพื้นฐานของผู้เรียนจากน้อยไปมากเป็น ๔ กลุ่ม A/B/C/D ในการเรียนภาคเช้าสี่ชั่วโมงแรก จำนวน ๕ วิชา (ภาษาไทย คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ภาษาอังกฤษ และคอมพิวเตอร์) ในส่วนภาคบ่าย (๒ ชั่วโมง) เรียนบูรณาการเน้นที่ School Concept ของโรงเรียน นั่นคือ Young AI School หรือนักปัญญาประดิษฐ์รุ่นเยาว์ โดยแบ่งเด็กออกเป็น ๒ กลุ่ม คือ กลุ่มประถมต้น (ป.๑-๓) และกลุ่มประถมปลาย (ป.๔-๖) จากการดำเนินการดังกล่าวพบว่าผลการเรียนรู้ของเด็กดีขึ้น สามารถจัดครูเข้าสอนให้มีความยืดหยุ่น พร้อมรองรับสถานการณ์/ภาระงานแทรกซ้อนได้

อ้างอิง:พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา Education Sandbox. (๒๕๖๓). บริหารจัดการโรงเรียนชั้นเรียนใหม่แก้ปัญหาโรงเรียนเล็ก เด็กน้อยด้วยการเรียนชั้นคละและการจัดกลุ่มผู้เรียนตามความสามารถ. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: https://www.edusandbox.com/bannongmuang-rayong/
(วันที่ค้นข้อมูล: ๒๐ มกราคม ๒๕๖๓)

โรงเรียนบ้านคลองบางบ่อ
“School Concept ของโรงเรียนคือ “พหุวัฒนธรรมสร้างสรรค์” ซึ่งผ่านการเห็นชอบของคณะกรรมการพื้นที่นวัตกรรมแล้ว การจัดเรียนการสอนแบ่งเป็นวิชาหลักกับวิชาบูรณาการ ใน ๔ วิชาหลัก (ภาษาไทย คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์และภาษาอังกฤษ) ในช่วงเช้า ส่วนภาคบ่ายใช้แกน ๔ วิชาเดิมแล้วบูรณาการกับวิชาอื่น เช่น วิชาสังคมศึกษา เราเปลี่ยนชื่อวิชาเป็นวิชาพหุวัฒนธรรม วิชาศิลปะใช้เป็นศิลป์สร้างสรรค์ เป็นต้น พอกำหนดชัดเจนแล้วครูก็จะมองเห็นว่าจะต้องทำอย่างไร แล้วกำหนดการสอนขึ้นมาซึ่งมีความสำคัญมากเพราะต้องมีการปรับเปลี่ยน ทดลองใช้หลักสูตรเพื่อหาความลงตัว ขาดหรือเกินอย่างไรก็กลับมาปรับกัน รวมทั้งต้องสร้างความเข้าใจกับผู้ปกครองและชุมชน เพื่อให้รับรู้และเข้าใจว่าหลักสูตรนี้ดีอย่างไร เพราะเมื่อเขายอมรับแล้วก็จะให้การสนับสนุน ซึ่งถือว่าเป็นแรงผลักดันและกำลังใจให้กับคณะครูและผู้อำนวยการในโรงเรียนด้วย”
นพรัตน์ สวัสดี ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านคลองบางบ่อ
สัมภาษณ์, ๒๓ มกราคม ๒๕๖๓

โรงเรียนสมานมิตร
“โรงเรียนต้องการที่จะเป็นโรงเรียน Eco School ให้นักเรียนเป็นพลเมืองเพื่อสิ่งแวดล้อม ที่มีส่วนช่วยให้สิ่งแวดล้อมในโลกนี้ดีขึ้น เพราะว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งเหมือนกับลมหายใจที่เราไม่เคยให้ความสำคัญ พอเราเกิดวิกฤติทุกคนถึงหันมาดูลมหายใจของตัวเอง แล้วจึงรู้ตัวเองว่าเราจะอยู่ไม่ได้แน่ ๆ ถ้าเราทิ้งสิ่งแวดล้อม”
เรืองกิตติ์ สุทธิวิรัตน์. ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านสมานมิตร

โรงเรียนสมานมิตร
“โรงเรียนต้องการที่จะเป็นโรงเรียน Eco School ให้นักเรียนเป็นพลเมืองเพื่อสิ่งแวดล้อม ที่มีส่วนช่วยให้สิ่งแวดล้อมในโลกนี้ดีขึ้น เพราะว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งเหมือนกับลมหายใจที่เราไม่เคยให้ความสำคัญ พอเราเกิดวิกฤติทุกคนถึงหันมาดูลมหายใจของตัวเอง แล้วจึงรู้ตัวเองว่าเราจะอยู่ไม่ได้แน่ ๆ ถ้าเราทิ้งสิ่งแวดล้อม”
เรืองกิตติ์ สุทธิวิรัตน์. ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านสมานมิตร
สัมภาษณ์, ๒๓ มกราคม ๒๕๖๓

โรงเรียนบ้านหมอมุ่ย
“นวัตกรรมของโรงเรียนบ้านหมอมุ่ย คือ Local Thai Dessert ขนมไทยท้องถิ่น เพราะว่าจากข้อมูลพื้นฐานของเด็กร้อยละ ๘๐ พ่อแม่เป็นลูกจ้าง ถ้าถามเด็กว่าจบไปจะทำอะไร เด็กก็จะตอบว่าไปช่วยแม่กรีดยาง โรงเรียนจึงคิดว่าจะทำอย่างไรให้พวกเขามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สามารถนำความรู้ที่เรียนไปต่อยอดอาชีพได้ อาจจะไปเป็นผู้ประกอบการ หรือเป็นเชฟก็ได้”
ขวัญเรือน เสรารมย์, ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านหมอมุ่ย
สัมภาษณ์, ๓๑ สิงหาคม ๒๕๖๒

โรงเรียนบ้านพยูน
“จากการที่ได้เข้าร่วมโครงการเพื่อปรับเปลี่ยนโรงเรียน ตอนนี้ได้ทำความเข้าใจกับชุมชนและคณะกรรมการสถานศึกษา ซึ่งมีแนวทางไปในทิศทางเดียวกัน ในส่วนของเรียนโรงเรียนนั้นกำลังปรับการเรียนการสอนของครูให้เข้าใจในการออกแบบการเรียนรู้แบบใหม่ๆที่สร้างการเรียนแบบใฝ่รู้ (Active Learning)ให้นักเรียน เพราะขณะนี้ครูยังยึดติดการสอนแบบเดิม ทำให้การพัฒนากระบวนการนี้เป็นไปได้อย่างล่าช้า โดยกำลังพัฒนาเพื่อนำเข้าสู่ห้องเรียนและกำลังจะใช้กระบวนการ CRC เพื่อปรับกระบวนการสอนของครูให้เกิดความเข้าใจถึงวิธีการที่จะเปลี่ยนแปลงให้เกิดผลกับนักเรียน และกำลังเริ่มพัฒนาทำหลักสูตรฐานสมรรถนะเพื่อให้สอดคล้องกับบริบทของโรงเรียน ซึ่งคิดว่าปี ๒๕๖๓ น่าจะดำเนินการได้ดีกว่าปัจจุบันที่เป็นอยู่”
ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านพยูน
สัมภาษณ์, ๒๓ มกราคม ๒๕๖๓.