อำนาจลี้ลับของความเป็นครู

" ครู เป็นผู้มีอำนาจลี้ลับอยู่ในตัว ? "

ประโยคแรกที่ รศ.ประภาภัทร นิยม อธิการบดีสถาบันอาศรมศิลป์ กล่าวกับเพื่อนครูใหม่ที่ก้าวเข้ามาเป็นศิษย์ของสถาบันฯ รุ่นปี 2557 เป็นคำจากอาจารย์อังคาร กัลยาณพงศ์ผู้เคยกล่าวไว้ว่า “ครูเป็นผู้ปลุกอำนาจลี้ลับในตัวเด็กขึ้นมา ? “
อาจารย์ประภาภัทร ตั้งคำถามชวนคิดว่า

“เราเป็นเราทุกวันนี้ได้ เพราะใครสอน?”

“เด็กเรียนในสิ่งที่ครูสอนจริงไหม?”

อาจารย์ประภาภัทรยกตัวอย่างเวลาป้อนข้าวเด็ก เราต่างพร่ำบอกให้เด็กเคี้ยว อย่าอม ซึ่งเด็กมักไม่ค่อยทำตาม เพราะมัวห่วงเล่น ซึ่งในสถานการณ์เช่นนี้ บทบาทของความเป็นครูควรทำอย่างไร?
ผู้มีอำนาจลี้ลับอย่างคุณครู ครูมีหน้าที่สร้างแรงบันดาลใจให้เด็กลองชิม ซึ่งโดยธรรมชาติเด็กต้องรับสัมผัสที่ลิ้นก่อน แล้วจึงรู้ว่าเป็นสิ่งที่เขาต้องการหรือไม่ ปรากฎการณ์เช่นนี้บอกเราว่า คนเราจะรู้จักสิ่งใด เขาจะต้องเรียนรู้ด้วยตัวของเขาเอง ซึ่งในสถานการณ์ข้างต้น บทบาทของครู คือการเข้าไปเปิดต่อมอยากกินอาหารทางจิตวิญญาณของเด็ก เพราะธรรมชาติของมนุษย์มักหิวกระหายอาหารทางจิตวิญญาณก่อนเรื่องอื่นเสมอ ๆ

roongaroon kinderkarten

อาจารย์ประภาภัทรหยิบยกเรื่องของอาจารย์ประมวล เพ็งจันทร์ อาจารย์พิเศษด้านปรัชญาและศาสนา เจ้าของผลงานหนังสือเรื่อง “เดินสู่อิสรภาพ” ที่เป็นที่รู้จัก เล่าถึงครูที่ท่านประทับใจในวัยเด็กที่เกาะสมุย มาเป็นอีกหนึ่งตัวอย่าง

โดยปกติเวลาเข้าแถวตอนเช้า ครูจะเดินตรวจเล็บ ตรวจเครื่องแต่งกาย ถ้าใครไม่เรียบร้อยจะถูกทำโทษ จนวันหนึ่ง มีครูใหม่เข้ามา ซึ่งก่อนหน้านี้เด็กชายประมวลจะโดนดุเป็นประจำเรื่องเล็บดำเพราะยากจนไม่มีรองเท้าใส่ แต่วันนั้น ครูใหม่ที่ชื่อ “พิกุล” เป็นครูสาวสวยใส่กระโปรงบานเดินแถวมาหยุดตรงหน้า ซึ่งเขาได้แต่ยืนก้มหน้า จนครูพิกุลย่อตัวนั่งต่อหน้าเขา แล้วเอื้อมมือมาร้อยเข็มขัดเข้าในหูกางเกงให้ พร้อมพูดด้วยน้ำเสียงที่อ่อนโยนว่า "จำไว้นะ ทีหลังต้องทำแบบนี้นะ" เหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้ ด.ช.ประมวลจำได้ไม่เคยลืม ไม่ใช่เรื่องวิธีใส่เข็มขัดให้เรียบร้อย แต่ท่านสัมผัสได้ถึงความอบอุ่น และปลอดภัยจากครูผู้นี้ ความเป็นครูที่ไม่ได้อยู่เหนือเด็ก เป็นสิ่งที่เด็กๆ ถวิลหา

คุณครูหลายคนในที่นี้อาจเคย “ปรี๊ด! ” ใส่เด็กบางเวลา ซึ่งขณะที่ “ปรี๊ด” นั้น ครูเคยสังเกตอารมณ์ตัวเองไหมว่าเราเท่าทันอารมณ์ตนเองหรือไม่ ส่วนใหญ่ที่ไม่ทัน เป็นเพราะเราไม่เห็นตัวเอง เมื่อครู “ปรี๊ด” ออกไป นั่นหมายถึง วุฒิภาวะของครูไม่ต่างอะไรกับพวกเด็กๆ เลย ??

สถาบันอาศรมศิลป์เป็นแหล่งเรียนรู้ที่มุ่งบ่มเพาะให้ครูรู้จักตัวเอง ฝึกหัดภาวนาแยก “ตัวรู้”กับ “ตัวเห็น” ออกจากกัน นั่นเป็นการให้ครูได้รู้จักอำนาจลี้ลับในตัวเองเสียก่อน เพราะเราเชื่อว่า ครู ไม่ใช่แค่ผู้รับจ้างสอน การเรียนการสอนที่นี่จึงเน้นให้ครูค่อย ๆ รู้เท่าทันตนเอง และสะสม “สติ” จนเกิดความชำนาญเสมือนมี “ตาใน” ที่มองเห็นตัวเองได้ จากนั้น “อำนาจลี้ลับของความเป็นครู” จะสำแดงฤทธิ์ออกมาให้เห็นผลเอง