โรงเรียนรุ่งอรุณและสถาบันอาศรมศิลป์

รางวัลผลงานออกแบบดีเด่นที่ควรเผยแพร่ ปี 2554 สมาคมนิสิตเก่า สถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

1. แนวความคิดเกี่ยวกับการสร้างสรรค์ผลงาน (เป้าหมายเชิงคุณค่าของโครงการ)

โรงเรียนรุ่งอรุณและสถาบันอาศรมศิลป์เป็นสถาบันการศึกษาเอกชนที่ไม่แสวงหาผลกำไร โดยเริ่มจากการก่อตั้งโรงเรียนรุ่งอรุณและได้ดำเนินการสั่งสมประสบการณ์การจัดการศึกษาทางเลือกในระดับอนุบาลจนถึงระดับมัธยมมาเป็นเวลาร่วม 10 ปี จึงมีแนวคิดที่จะขยายผลไปสู่ระดับอุดมศึกษาและก่อตั้งสถาบันอาศรมศิลป์ขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์ในการสร้างสรรค์ชุมชนแห่งการเรียนรู้ที่มุ่งสร้างทักษะในตนเองด้วยการฝึกฝนกาย ใจ สติปัญญา ผ่านการเรียนรู้ศาสตร์และศิลป์อย่างเป็นองค์รวมบนพื้นฐานของการทำงานจริง เพื่อพัฒนาความเป็นมนุษย์และร่วมเปลี่ยนแปลงสังคมอย่างมีคุณภาพเพื่อตอบสนองต่อวัตถุประสงค์ดังกล่าว สถาบันอาศรมศิลป์จึงไม่ได้เป็นเพียงแค่อาคารที่รองรับการใช้งานทั่วไปเท่านั้น แต่อาศัยการออกแบบและก่อสร้างพื้นที่นี้ในการสร้างคนและชุมชนไปพร้อมๆ กัน ด้วยกระบวนการมีส่วนร่วมจากผู้ใช้อาคารทุกคน ซึ่งนำไปสู่กระบวนการ “ปลูกเรือน ปลูกชุมชน ปลูกชีวิต” ของอีกหนึ่ง “ชุมชนแห่งการเรียนรู้” ที่เติบโตขึ้นมาเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนโรงเรียนรุ่งอรุณ โดยมีเป้าหมายในกระบวนการออกแบบ ดังนี้

1. สร้างสถาปัตยกรรมของสถาบันอาศรมศิลป์ให้ต่อยอดและเชื่อมโยงกับต้นทุนทางกายภาพของโรงเรียนรุ่งอรุณ

ด้วยโรงเรียนรุ่งอรุณมีพื้นที่ขนาดใหญ่และมีสภาพธรรมชาติที่สมบูรณ์ รวมถึงมีรูปแบบสถาปัตยกรรมที่มีอัตลักษณ์ชัดเจน ในการออกแบบจึงต้องนำต้นทุนทางกายภาพดังกล่าวของโรงเรียนรุ่งอรุณมาเพิ่มศักยภาพให้กับสถาปัตยกรรมของสถาบันอาศรมศิลป์ โดย

1) ออกแบบให้ทางรถยนต์และทางเดินเท้าในการเข้าถึงของสถาบันอาศรมศิลป์ มีระยะที่ทอดยาวตั้งแต่ทางเข้าของโรงเรียนรุ่งอรุณผ่านสภาพธรรมชาติที่สมบูรณ์ของที่ตั้ง เพื่อสร้างความรู้สึกในการเข้าถึง (sense of arrival) และจิตวิญญาณแห่งสถานที่ (sense of place) ของสถาบันอาศรมศิลป์ให้เปิดโอกาสในการรับพลังจากธรรมชาติมากที่สุด

2) ออกแบบสถาปัตยกรรมในรูปแบบของสถาปัตยกรรมไทยประยุกต์ซึ่งเป็นการต่อยอดจากสถาปัตยกรรมไทยประเพณีของโรงเรียนรุ่งอรุณ เพื่อสร้างความสอดคล้องกลมกลืน และสื่อถึงการเติบโตต่อยอดมาจากโรงเรียนรุ่งอรุณ

2. สถาปัตยกรรมที่เป็นตัวกลางในการสร้างวัฒนธรรมองค์กร (corporate culture) นำไปสู่วิถีชีวิตชุมชนกัลยาณมิตร

แบ่งอาคารออกเป็น 5 หลัง ร้อยรัดกันด้วยลาน ชาน ระเบียง เป็น Transitional space ที่เอื้อให้เกิดการปฏิสัมพันธ์กันอย่างอบอุ่น ใกล้ชิดเหมือนอยู่ในหมู่บ้าน แต่ในขณะเดียวกันก็ยังมีความเป็นส่วนตัว โดยออกแบบพื้นที่ส่วนกลางต่างๆ (community space) ให้มีลำดับและการเข้าถึงที่เป็นสัดเป็นส่วน (Sequences of Space) ตั้งแต่พื้นที่สำหรับกิจกรรมกลุ่มขนาดใหญ่ มุมสงบสำหรับการพูดคุยอย่างใกล้ชิด (small & cozy community space) ไปจนถึงพื้นที่ส่วนตัว (individual space) ที่เชื่อมต่อถึงกันทั้งในแนวดิ่งและแนวราบ (vertical& horizontal relationship) เพื่อสนับสนุนให้เกิดวัฒนธรรมแห่งมิตรภาพขึ้นในวัฒนธรรมองค์กร รวมถึงการออกแบบพื้นที่ให้สามารถยืดหยุ่น รองรับการปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับการเติบโตเปลี่ยนแปลงขององค์กรได้

 

3. สถาปัตยกรรมเพื่อการอยู่ร่วมอย่างสอดคล้องเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับธรรมชาติ

เพราะธรรมชาติเป็นเครื่องมือกล่อมเกลาจิตใจให้สงบเย็น เอื้อต่อการเรียนรู้ ทุกๆ วันของชาวอาศรมศิลป์จึงได้สัมผัสกับธรรมชาติโดยตรง ตั้งแต่ถนนทางเข้าสายเล็กๆ ที่มีกำแพงต้นไม้สองข้างทาง ทางเดินไม้เลียบบึงที่สร้างความรู้สึกในการเข้าถึง (sense of arrival) ที่เปลี่ยนอารมณ์จากความสับสนวุ่นวายของเมืองภายนอกมาเป็นอารมณ์สดชื่น สงบเย็น ก่อนจะผ่านลานใจบ้านที่ปูด้วยหญ้าเขียวขจี แล้วจึงจะเข้าที่ทำงานของแต่ละคน ซึ่งถูกออกแบบให้สอดคล้องกับทิศทางลม แดด กระทั่งเปิดรับน้ำฝนบนชานบางแหง่ สร้างสายสัมพันธ์ระหว่างคนกับธรรมชาติผ่านการมองเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น สัมผัส และจินตนาการอยู่ทุกขณะ เป็นการรดน้ำเพื่อปลูกชีวิตที่สอดคล้องกับธรรมชาติ

ด้วยความเชื่อว่าวัสดุธรรมชาติจะทำให้จิตใจของคนอ่อนโยน ไม้จึงถูกใช้เป็นองค์ประกอบหลักของอาคาร ซึ่งนอกจากจะมีความเป็นธรรมชาติแล้ว สิ่งสำคัญอย่างยิ่งในการใช้วัสดุธรรมชาติเหล่านี้คือเป็นการปลูกฝังทัศนคติการใช้อย่างรู้คุณค่าและสร้างจิตสำนึกในการดูแลรักษา เช่น การประมูลไม้เก่าจากโรงเรียนที่ต้องการรื้อถอนและนำกลับมาใช้ใหม่เพื่อเป็นการประหยัดทรัพยากร และเป็นแบบอย่างให้กับนักเรียนนักศึกษาได้เรียนรู้ในเรื่องวัฏจักรตามธรรมชาติของวัสดุและสร้างนิสัยในการดูแลรักษาอย่างใกล้ชิด การประยุกต์ใช้สลิงเข้ามาเพิ่มศักยภาพในการรับแรงของไม้ที่หน้าตัดไม่ใหญ่นัก ทำให้ประหยัดปริมาณไม้ที่ใช้ ให้ความรู้สึกโปร่งเบา สบาย ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับการใช้คอนกรีตจากการระเบิดภูเขา ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาในการฟื้นตัวนับพันปี ต้นไม้มีวงรอบของการหมุนเวียนไม่ถึงหนึ่งร้อยปี และสามารถปลูกทดแทนได้ ดังนั้นสถาบันอาศรมศิลป์จึงเก็บรักษา 80% ของพื้นที่โครงการไว้ให้เป็นพื้นที่สีเขียว และกำหนดให้พื้นที่อีก 2 ไร่ที่ถูกกันไว้เพื่อปลูกเป็นป่าทดแทนไม้ที่ใช้ไป

4. นำภูมิปัญญาสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นเขตร้อนชื้น (Tropical Vernacular Architecture) มาประยุกต์ใช้ในการออกแบบ

สร้างสถาปัตยกรรมที่ประหยัดพลังงานแบบ Passive Approach โดยการนำภูมิปัญญาของบรรพบุรุษมาต่อยอด เช่นการใช้พื้นไม้ที่ยกสูงและเว้นร่องเพื่อช่วยระบายความชื้นจากดิน ผนังที่เป็นประตูบานเฟี้ยมพร้อมที่จะเปิดรับลมและมุมมองธรรมชาติ ชายคายื่นยาวเพื่อช่วยบังแสงแดดให้เกิดร่มเงาและทำให้สามารถเปิดหน้าต่างเวลาฝนตกได้ การใช้หลังคาจากซึ่งเป็นวัสดุที่หาได้ง่ายในท้องถิ่นและเป็นฉนวนกันความร้อนที่ดี เมื่อใช้ร่วมกับ sub roof อลูมิเนียมแผ่นเรียบ การยกมุมสูงชัน และเกล็ดระบายอากาศ สามารถแก้ปัญหาการรั่วซึมและช่วยระบายความร้อนได้ ทำให้เกิดความร่มเย็นและสามารถใช้การปรับอากาศเพียงเท่าที่จำเป็นทำให้ประหยัดพลังงาน

5. ใช้พลังสุนทรียภาพของงานสถาปัตยกรรมเป็นสื่อสร้างความรับรู้ถึงเป้าหมายขององค์กรแก่ผู้ใช้และผู้มาเยือน

โดยออกแบบอาคารสถาบันให้เป็น “มหาวิทยาลัยมุงจาก” เพื่อสื่อถึงเจตจำนงในการสืบสานภูมิปัญญาของบรรพบุรุษ รวมทั้งเป็นการสร้างกิจกรรมความร่วมมือภายในองค์กรในประเพณีการเปลี่ยนหลังคาจากทุก 10 ปี เพื่อเป็นกุศโลบายให้บุคลากรได้เรียนรู้จากการลงมือทำ เพื่อการประจักษ์ในภูมิปัญญาอันลึกซึ้งของบรรพบุรุษ

2. เทคนิคและขั้นตอนในการสร้างผลงาน

กระบวนการมีส่วนร่วมในการออกแบบและก่อสร้าง

ความเป็นชุมชนจะเกิดขึ้นได้เมื่อมีความผูกพันระหว่างคนกับคน และคนกับสถานที่ การเลือกใช้กระบวนการมีส่วนร่วมในการออกแบบมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความเป็นกัลยาณมิตรและความเป็นเจ้าของร่วมกัน ควบคู่ไปกับการสร้างอาคาร เริ่มจากการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ความต้องการใช้งานพื้นที่ รวมถึงวิถีชีวิตของชาวอาศรมศิลป์กว่า 30 ชีวิต ซึ่งสถาปนิกได้นำมาเป็นข้อมูลในการกำหนดทิศทางการออกแบบและโปรแกรมการใช้งาน การทำงานด้วยวิธีนี้ทำให้ทุกฝ่ายได้เรียนรู้ที่จะยอมรับความหลากหลายและแตกต่าง มีอยู่หลายครั้งที่ความคิดเห็นของแต่ละคนไม่ตรงกัน แต่การรับฟัง ประนีประนอม ก็ได้ช่วยให้เกิดภาพรวมที่ทุกคนเห็นพ้องต้องกันได้ในที่สุด

ทั้งนี้ ชุมชนอาศรมศิลป์ไม่ได้มีแค่ผู้ใช้อาคารเท่านั้น ยังรวมไปถึงผู้ก่อสร้างอาคารซึ่งเป็นทีมช่างของโรงเรียนรุ่งอรุณด้วย ช่างก่อสร้างก็มีความรักในงานสถาปัตยกรรมไม่แพ้ใคร ความตั้งใจในทุกรายละเอียดการทำงานเป็นเงื่อนไขที่ทำให้เกิดกัลยาณมิตรและเกิดการร่วมเรียนรู้กันระหว่างช่างกับสถาปนิกโดยสะดวก แต่ที่สำคัญไปกว่านั้นคือความนับถือและยอมรับที่ทุกคนมีให้กันและกันตั้งแต่ต้นจนจบ

3. การเผยแพร่และการนำงานออกเผยแพร่ต่อสาธารณชน

  • แสดงผลงานในนิทรรศการของอาศรมสถาปนิกชุมชนและสิ่งแวดล้อม สถาบันอาศรมศิลป์ ในงานสถาปนิกของสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ พ.ศ. 2553
  • หนังสือ living with wood โดยนิตยสารบ้านและสวน พ.ศ. 2553
  • หนังสือเผยแพร่ผลงานออกแบบดีเด่นของนิสิตเก่าคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (a+A) ลำดับที่ 7
  • บรรยายในการเปิดตัวหนังสือผลงานออกแบบดีเด่นของนิสิตเก่าคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (a+A) ลำดับที่ 7 ที่สยามสมาคม พ.ศ. 2554
  • ได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารด้านสถาปัตยกรรมและการตกแต่งบ้านภายในประเทศหลากหลายฉบับ
  • ได้ร่วมนำเสนอผลงานในเทศกาลสถาปัตยกรรม Venice Biennale 2012 ที่ประเทศอิตาลี โดยสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์

4. การถ่ายทอดผลงานให้ผู้อื่น

  • การนำกระบวนการออกแบบอย่างมีส่วนร่วมไปใช้กับโครงการออกแบบอื่นๆ และแบ่งปันบทเรียน ประสบการณ์ องค์ความรู้ที่ได้จากการทำงานให้กับผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ทั้งคณะทำงานออกแบบ ช่างก่อสร้าง ชาวอาศรมศิลป์ รวมถึงนักเรียนนักศึกษาและผู้ที่สนใจเข้ามาศึกษาดูงานทุกคน
  • เป็นสถานที่รองรับการศึกษาดูงานของนิสิตนักศึกษาด้านสถาปัตยกรรมจากหลากหลายสถาบัน เช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยขอนแก่น สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เฉลี่ย 6 ครั้งต่อปี

5. ความโดดเด่น ความมีเอกลักษณ์เฉพาะตนของผลงาน

  • การริเริ่มใช้กระบวนการมีส่วนร่วมในการออกแบบสถาปัตยกรรม
  • การประยุกต์ใช้ภูมิปัญญาพื้นถิ่นในงานสถาปัตยกรรมร่วมสมัยที่ตอบสนองคุณค่าและวิถีชีวิตในโลกปัจจุบันขององค์กรได้

6. ความมุ่งหวัง คุณค่า ประโยชน์ และความสำคัญของผลงาน

  • การสร้างสรรค์สถาปัตยกรรมที่นำไปสู่การสร้างชุมชนแห่งการเรียนรู้บนวิถีชีวิตที่สอดคล้องกับธรรมชาติ
  • ต้องการให้เป็นแบบอย่างที่สร้างแรงบันดาลใจแก่สถาปนิกรุ่นเยาว์ในการสร้างสรรค์ผลงานสถาปัตยกรรมร่วมสมัย(Contemporary Architecture) ที่สืบสานจากรากของสังคมไทย ทั้งในมิติของกายภาพ สิ่งแวดล้อม และจิตวิญญาณ เพื่อพัฒนาองค์ความรู้ของบรรพบุรุษ และเป็นการส่งเสริมความหลากหลายทางวัฒนธรรม ให้เกิดความเข้มแข็งของประเทศและโลก ทำให้เกิดความเข้าใจและภูมิใจในความเป็นชาติ และสามารถพัฒนางานสถาปัตยกรรมในอดีตที่มีเอกลักษณ์เป็นที่ยอมรับของชาวโลก ไปสู่งานสถาปัตยกรรมร่วมสมัยในระดับโลกได้